บทคัดย่อ
การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิด-การแลกเปลี่ยนความรู้ ทบทวนสถานการณ์ในการดำเนินงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ หารือการขับเคลื่อนระบบ-หลักประกันสุขภาพ และพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ อันจะนำไปสู่การบูร-ณาการและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางที่เกื้อหนุนและสอดคล้องกัน
รูปแบบการจัดบริการสุขภาพที่ดำเนินการมาในอดีตและการจัดการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 นั้นประสบความสำเร็จในการครอบคลุมประชาชนไทย และเป็นตัวอย่างในระดับนานาชาติ แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อรองรับปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง และประชากรไทยที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้นจนอยู่ในลักษณะโครงสร้างแบบสังคมสูงอายุ รวมทั้งความท้าทายจากปัญหาสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ
กระบวนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ มีการวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างละเอียด และต้องหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้ทำการศึกษา ทำประชาพิจารณ์ รวมทั้งนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดเป้าประสงค์ของระบบหลักประกันสุขภาพ จากนั้นรัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เพื่อจัดทำแผนปฏิรูป แนวทางปฏิรูปและการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพ คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำร่างแนวทางการขับเคลื่อนการและปฏิรูปด้านสาธารณสุขเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว
เพื่อให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังข้อเสนอต่อประเด็นปฏิรูปด้านการคลังสุขภาพและระบบลักประกันสุขภาพ คณะอนุกรรมการฯ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) และภาคีเครือข่าย จึงเห็นชอบให้การจัดประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม” และนำเอาร่างข้อเสนอที่เป็นสาระสำคัญของคณะอนุกรรมการฯ เป็นหัวข้อย่อยของการจัดประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอและอภิปรายทั้งหมดได้ถูกรวบรวมโดยคณะทำงานจดบันทึกประเด็นเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจในลำดับต่อไป