บทคัดย่อ
คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติแต่งตั้งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อจัดทำข้อมูลเภสัชเศรษฐศาสตร์และผลกระทบด้านงบประมาณของรายการยาที่จะเกิดขึ้น หากมีการบรรจุรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อการคัดเลือกรายการยาของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นอย่างทั่วถึงโดยไม่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านการเงินของกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน โดยกรอบการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เริ่มตั้งแต่การรับมอบหมายงานจากคณะทำงานประสานผลภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ในกระบวนการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นผู้จัดทำกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของการประเมิน ซึ่งมีผู้ทบทวนผลการประเมินทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยฉบับที่ 1 และ 2 หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพแล้ว คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจะนำเสนอผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบด้านงบประมาณของรายการยาเพื่อให้คณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป ซึ่งจะเป็นการรวมข้อมูลด้านการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และแนวทางการบริหารจัดการโรคที่เกี่ยวข้องด้วย โครงการจัดทำข้อมูลความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์นี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในปี 2559 มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จำนวน 3 ข้อบ่งใช้ ได้แก่
1) การประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง โดย วรัญญา รัตนวิภาพงษ์ ธันธิมา สุวรรณถาวรกุล ทรงยศ พิลาสันต์ ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี ยศ ตีระวัฒนานนท์ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
2) ยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยาสูตรพื้นฐาน โดย งานประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มงานวิจัยและประเมินเทคโนโลยี โรงพยาบาลราชวิถี 3) ยาเพื่อป้องกันกระดูกหักในหญิงไทยวัยหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดย สุรสิทธิ์ ล้อจิตรอำนวย ณัฏฐิญา ค้าผล .สาวิณี โชคเฉลิมวงศ์ เอมิกา วิรุฬห์พอจิตร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการรายการยาทั้ง 3 ข้อบ่งใช้ และผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษา
การศึกษาทั้งหมดเป็นการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ (cost-utility analysis, CUA) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ Markov มีกรอบเวลาตลอดชีวิต ศึกษามุมมองของสังคมและคาดการณ์ภาระงบประมาณ ภายใน 5 ปี