บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอระบบส่งเสริมการใช้ยาใช้ยาอย่างสมเหตุผลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระบบและพัฒนาข้อเสนอต่อระบบเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และการประชุมระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยในรายงานฉบับนี้จะแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่1 บทนำและที่มาของปัญหา ส่วนที่2 เป็นการทบทวนการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลจากต่างประเทศ และข้อเสนอนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมของประเทศไทย และส่วนที่3 เป็นสาระข้อเสนอจากการประชุมระดมสมองจำนวน 3 ครั้งที่ถูกนำมาเป็นข้อมูลนำเข้าของการดำเนินนโยบายการใช้ยาสมเหตุผลประเทศไทย (ที่ระบุในส่วนที่ 2) ผลการศึกษาโดยการวิเคราะห์ระบบ (system analysis) เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศไทย พบว่า การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง จากความพยายามสร้างระบบแก้ไขปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลในหลายส่วน ได้แก่ โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อการใช้ยาสมเหตุผล การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาด้วยเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา แต่จากสถานการณ์และสภาพปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลทั้งในสถานพยาบาลและชุมชนยังคงมีอยู่ เมื่อวิเคราะห์ระบบจากสิ่งที่ป้อนเข้าไปในระบบ (input) โดยเฉพาะทรัพยากรและโครงสร้าง ยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญส่งผลให้กระบวนการขับเคลื่อน (process) เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (output) ตามแผนที่วางไว้ กล่าวคือแม้ว่าการส่งเสริมใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแห่งชาติด้านยาครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 หรือองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโลกในการพัฒนาระบบยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 แต่การดำเนินการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่ผ่านมายังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากนัก มีเพียงการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคณะกรรมการระดับชาติดูแล คือ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ซึ่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2524 หรือคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งทำให้การทำงานต่อเนื่องมากขึ้นก็ตาม มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นฝ่ายเลขานุการ แต่ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรบุคคลในภาพรวมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีภารกิจมากมายอยู่แล้ว จึงทำให้การขับเคลื่อนนโยบายแห่งชาติด้านยาในภาพรวมยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก เมื่อวิเคราะห์รายงานและการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายแห่งชาติด้านยาที่ผ่านมา ระบบ กลไก เพื่อดำเนินการ การประสานเชื่อมโยง เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยกลไกฝ่ายเลขานุการ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นการมีโครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการและประสานเชื่อมโยง จึงเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรกลางระดับประเทศที่จะเชื่อมโยงประสานงานในทุกกิจกรรมของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และได้รับสนับสนุนทรัพยากรจากรัฐอย่างเพียงพอเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังมีตัวอย่างประเทศออสเตรเลียซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มี NPS Medicine Wise เป็นองค์กรอิสระ ที่ดำเนินการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยให้การสนับสนุนแก่บุคลากรการแพทย์เพื่อให้เกิดการสั่งจ่ายยาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเน้นการให้การศึกษา และการให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback information) นอกจากนี้ให้การศึกษาด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลแก่ผู้บริโภค ปัจจุบันการขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศไทยมีองค์กรรับผิดชอบคือ กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้โครงสร้างการบริหารจัดการภายใต้สำนักยา ไม่ได้เป็นโครงสร้างในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ มีผู้รับผิดชอบหลักเพียง 1 คน การขับเคลื่อนนโยบายแห่งชาติด้านยาไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับชาติทำหน้าที่ประสาน เชื่อมโยง หรือปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว ดังข้อเสนอแนะต่อจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนข้องในระบบยา ในการประชุมเพื่อพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติใหม่ จำนวน 2 ครั้ง สรุปได้ว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสนอให้มียุทธศาสตร์สร้างเสริมกลไกการประสานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยจัดตั้งหน่วยงานระดับกอง/ สำนัก ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่มีพันธกิจตามกฎหมายในการจัดทำนโยบายขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ สำหรับข้อเสนอจากการประชุมระดมสมองจากผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จำนวน 2 ครั้ง ได้เสนอว่า เพื่อให้การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสนอให้มีองค์รอิสระรับผิดชอบการขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างต่อเนื่อง มีอัตรากำลังสหวิชาชีพและงบประมาณรองรับชัดเจน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล แบบเครือข่ายโดยทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ท้องถิ่นและภาคเอกชน โดยมียุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาข้อมูลวิชาการที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของโรคและการรักษา พัฒนาระบบฐานข้อมูลการใช้ยาระดับประเทศ พัฒนาเครื่องมือที่ใช้ดักจับการสั่งใช้ยาที่ไม่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมถึงประชาชนที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย เช่น จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านยาสำหรับประชาชน วิเคราะห์สถานการณ์ สภาพปัญหา เพื่อติดตามประเมินผลการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกำกับดูแลและประเมินผลการส่งเสริมการขายยา