บทคัดย่อ
การคงอยู่ของกำลังแรงงานด้านสุขภาพ (health workforce) และการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ให้สมดุลระหว่างพื้นที่ (โดยเฉพาะระหว่างพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท) เป็นปัญหาเรื้อรังที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขได้ ในกรณีของประเทศไทยปัญหานี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าบริการสุขภาพให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของบริการสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน การวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัย (ทั้งประเภทและขนาด) ของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ต่อค่าตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบัน และคำนวณค่าตอบแทนที่บุคลากรทางการแพทย์ประสงค์ได้รับจากการปฏิบัติงานในลักษณะต่างๆ โดยจะมุ่งเน้นศึกษาความพึงพอใจต่อค่าตอบแทนของแพทย์สองกลุ่ม คือ แพทย์ที่ปฏิบัติงานเพื่อใช้ทุนในปีที่ 2 - 3 และแพทย์ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปีนับจากปีที่จบการศึกษา ซึ่งแพทย์สองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน และน่าจะมีปัจจัยในการตัดสินใจเลือกงานต่างกัน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจกึ่งทดลอง โดยใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากแพทย์ทั้งสองกลุ่มที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์/จังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนใน 4 ภาคของประเทศไทย ภาคละอย่างน้อย 2 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการเก็บข้อมูลจากแพทย์ใช้ทุนจำนวน 200 คน และแพทย์ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลา 7 - 20 ปีนับจากจบการศึกษาจำนวน 300 คน นอกจากนี้ การเลือกสถานพยาบาลในการสำรวจจะครอบคลุมสถานพยาบาลในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนบุคลากรที่ได้รับการปรับเปลี่ยนสภาพระหว่างปี 2552 - 2556 รวมทั้งสถานพยาบาลที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนสภาพ ซึ่งวิธีการศึกษาในงานวิจัยนี้ใช้การวิเคราะห์ความพึงพอใจแบบบ่งบอก (stated preference) เป็นความพึงพอใจต่อทางเลือกที่ยังไม่มีอยู่จริง (hypothetical situations) วิธีการวิเคราะห์ประกอบไปด้วย (1) Discrete Choice Experiments (DCE) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ต่อคุณลักษณะ (attributes) ต่างๆ ในการปฏิบัติงาน และ (2) Contingent Valuation Method (CVM) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินความพึงพอใจโดยใช้แบบสอบถาม โดยให้ผู้ตอบระบุค่าตอบแทนขั้นต่ำ (reservation wages) ที่บุคลากรทางการแพทย์ยินดีจะรับเพื่อแลกกับการทำงานในลักษณะต่างกัน วิธีการวิเคราะห์ทั้งสองนี้จะนำไปสู่การระบุปัจจัย (ทั้งประเภทและขนาด) ที่มีผลต่อความพึงพอใจต่อค่าตอบแทน และการคำนวณความเต็มใจรับ (willingness to accept: WTA) ของการปฏิบัติงานที่มีคุณลักษณะต่างๆ กัน จากนั้นผลการคำนวณ WTA ที่ได้จากทั้งวิธี DCE และ CVM จะถูกนำไปวิเคราะห์โดยใช้ Decision Tree Analysis (DTA) เพื่อใช้ประมาณค่าตอบแทนขั้นต่ำสำหรับการเปลี่ยนแปลงของแต่ละปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติ และพยากรณ์ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คณะผู้ศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษานี้ สามารถนำมาสร้างข้อเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อให้สอดคล้องกับความพึงพอใจของแพทย์