บทคัดย่อ
โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ วิจัยประเด็นวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ พัฒนา “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” และนำ “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” ไปใช้ควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพกับกลุ่มเป้าหมายใน 4 อำเภอนำร่อง ดำเนินการร่วมกันระหว่างบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 10 กิจกรรม (Action) หลัก ได้แก่ 1) การคาดประมาณขนาดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย 2) การระบุวงจรการดื้อยาต้านจุลชีพและพลวัตของการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย 3) การพัฒนาโครงสร้างระดับชาติของการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย 4) การพัฒนาห้องปฏิบัติการและระบบการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ การเฝ้าระวังการใช้ต้านจุลชีพ และการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล 5) การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ 6) การพัฒนาแนวทางรณรงค์การควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ 7) การสร้างและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในบริบทของประเทศไทย 8) การพัฒนา “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” 9) การนำ “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” ไปใช้ควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพกับกลุ่มเป้าหมาย และ 10) การวิจัยและพัฒนาวิธีใหม่ในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพโครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยมีผลงานสำคัญ ได้แก่ ทราบขนาดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ทราบวงจรและพลวัตของการเกิดและการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย มีโครงสร้างระดับชาติของการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยแล้วส่วนหนึ่ง มีแนวทางการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ การเฝ้าระวังการใช้ต้านจุลชีพ และการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีระบบการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์แล้วส่วนหนึ่ง มีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับมาตรการและวิธีการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย มี “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” ซึ่งนำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ ประชาชนและบุคลากรสาธารณสุข จนทราบประสิทธิผล อุปสรรค ข้อจำกัด และโอกาสพัฒนาของการนำ “ชุดควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ” ไปใช้ กระบวนการดำเนินงานของโครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยสามารถนำไปใช้กับสถานพยาบาลทุกระดับตามนโยบายส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและการควบคุมและป้องกันการดื้อยาปฏิชีวนะของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ได้ และนำไปใช้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพระดับชาติและระดับนานาชาติให้สอดคล้องแผนปฏิบัติการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพระดับโลกขององค์การอนามัยโลกได้ด้วย การดำเนินงานและผลงานของโครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบหมายจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ (WHO Collaborating Centre for Antimicrobial Resistance Prevention and Containment) ตั้งแต่พฤศจิกายน พ.ศ. 2559