บทคัดย่อ
รายการหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ได้ทำการประเมินในระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึง มกราคม 2561 เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการศึกษา เพื่อใช้ผลการศึกษาประกอบการพิจารณาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ได้แก่
1. การศึกษาการเข้าถึงบริการตรวจสรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry ที่มีประสิทธิภาพในโรงพยาบาลชุมชน การศึกษานี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อศึกษาการเข้าถึงและประเมินความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อให้มีบริการ spirometry ในโรงพยาบาลชุมชน พบว่าโรงพยาบาลชุมชนที่มีเครื่อง spirometer รวมถึงบุคลากรที่สามารถให้บริการ spirometry ได้มีจำนวนน้อย ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้น้อย การบริการ spirometry ในบางโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ได้มาตรฐาน และการให้บริการ spirometry ยังไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ควรพิจารณาจัดซื้อเครื่อง spirometer พัฒนาบุคลากร และกำหนดรูปแบบการให้บริการ spirometry ที่เหมาะสมให้แก่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ผู้ป่วยในแต่ละท้องที่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
2. การศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ของการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กที่มีปัญหาการหายใจเรื้อรัง และต้องการพึ่งพาการช่วยหายใจที่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคุ้มค่าและรูปแบบความเป็นไปได้ในการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจที่บ้านสำหรับเด็กที่มีปัญหาการหายใจเรื้อรังและต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพและเก็บข้อมูลแบบย้อนไปข้างหลัง ผลการศึกษาพบว่า การสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจสามารถลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลประมาณ 4.3-17.6 ล้านบาทต่อรายต่อปี และลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนประมาณ 1,700-126,000 บาทต่อเดือน อัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ป่วยและผู้ปกครองจะมีผลลัพธ์ทางสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีกว่าการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและครัวเรือน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยผู้ปกครองและญาติ
3. การศึกษาความคุ้มค่าการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ Video Assisted Thoracoscopic Surgery (VATS) เทียบกับการรักษาทางเลือกอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์สำหรับการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคเยื่อหุ้มปอด และในกลุ่มโรคก้อนเนื้อในปอด (non-small cell lung nodule) ระยะที่ 1-2 ด้วยการผ่าตัดช่องอกผ่านกล้องวีดีทัศน์ (VATS) ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 228 ราย พบว่า VATS สามารถลดภาวะแทรกซ้อน, เพิ่มคุณภาพชีวิต, ลดจำนวนครั้งของบริการผู้ป่วยนอก, ลดจำนวนผู้ที่เดินทางมาพร้อมกันทั้งกรณีผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน, ลดเวลาที่ใช้ในการมารับบริการฉุกเฉินและลดจำนวนวันนอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่ต้นทุนการผ่าตัดของ VATS สูงกว่าแบบการผ่าตัดเปิดช่องอกเพียงเล็กน้อย จึงสรุปได้ว่า VATS มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้ต้นทุนเพิ่ม 33,868.48 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะและมีผลกระทบทางงบประมาณ 91-425 ล้านบาทต่อปี
4. การศึกษาความคุ้มค่าและผลกระทบทางงบประมาณของการให้บริการผู้ป่วยผ่าตัดและระงับความรู้สึกด้วยระบบ Same day surgery and anesthesia การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการให้บริการผู้ป่วยผ่าตัดและระงับความรู้สึกด้วยระบบการผ่าตัดวันเดียวกลับ (same day surgery) กับการผ่าตัดแบบนอนค้างคืน (overnightstay surgery) โดยการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มาผ่าตัดทั้งสองรูปแบบใน 20 หัตถการ ณ โรงพยาบาล 6 แห่งในพื้นที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 ซึ่งผลลัพธ์ในด้านคุณภาพชีวิตของการผ่าตัดทั้งสองแบบ มีความแตกต่างกันไม่มากนักไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่ในด้านของต้นทุน พบว่าการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 1,356.04 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ข้อเสนอเชิงนโยบายจึงเห็นควรสนับสนุนนโยบายการผ่าตัดวันเดียวกลับ เนื่องจากเป็นบริการผ่าตัดที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยควรบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
5. การศึกษาความคุ้มค่าการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์การรักษาด้วยเครื่องมือ Hyperbaric Chamber เพื่อการรักษาแผลเบาหวาน ข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 638 ราย พบว่าการรักษาด้วย HBOT สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้แต่มีต้นทุนที่สูงขึ้น จากสถิติเชิงอภิมานพบว่าอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวาน เท่ากับ 0.00742, อัตราตายของผู้ป่วยเบาหวานที่มีการตัดระยางค์ เท่ากับ 0.126 ต่อคนต่อปี, อัตราการหายของแผลเท่ากับ 0.866 ในสัปดาห์ที่ 52 และการรักษาด้วย HBOT ลดโอกาสการตัดขา เหลือ 0.29 เท่าและเมื่อเปลี่ยนการรักษาแบบมาตรฐานมาเป็นแบบ HBOT จะเพิ่มต้นทุน11,810.58 บาท และมีจำนวนปีสุขภาวะเพิ่มขึ้น 1.29 ปี จึงสรุปได้ว่าการรักษาด้วย HBOT นี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และมีภาระงบประมาณที่เป็นไปได้คือ 429.4 ล้านบาท จนถึง 1,693.3 ล้านบาท ต่อปี โดยเกณฑ์ที่แนะนำคือแผลเบาหวาน Wagner II และ 3 ที่รักษาปกติไม่ดีขึ้น