บทคัดย่อ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาระบบสุขภาพ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายสุขภาพบนพื้นฐานของความรู้เชิงประจักษ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 สวรส. ได้ผลักดันงานวิจัยในหลากหลายด้าน เพื่อมุ่งไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
งานวิจัยและพัฒนาระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี อาทิ การส่งเสริมและการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล โดยการใช้มาตรการหลายอย่างควบคู่กัน ได้แก่ Drug Use Evaluation (DUE) ของการใช้ยาต้านจุลชีพที่ใช้ในโรงพยาบาลศิริราชไปฝึกอบรมเภสัชกรในโรงพยาบาลอื่น การสำรวจความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผลและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 การให้ข้อมูลย้อนกลับการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสมแก่แพทย์ประจำบ้านรายบุคคล โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการโดยใช้เครื่องมือคือตัวชี้วัด PLEASE ที่พัฒนาจากส่วนกลางในการดำเนินการ รวมถึงแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ได้มีประกาศเป็น service plan และมีผลนำไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ นอกจากนี้ด้านเวชภัณฑ์และเทคโนโลยี ได้ผลงานวิจัยต้นแบบที่มีคุณภาพสามารถเข้าสู่การวิจัยทางคลินิกต่อไปได้ (clinic phase) เกิดเครือข่ายวิจัยทางคลินิกกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ที่สนับสนุนการวิจัยทางคลินิกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงเกิดการวิจัยและการเรียนรู้ร่วมกันแบบ multidisciplinary จนสามารถได้ผลิตภัณฑ์ที่สนองความต้องการของผู้ใช้และนำไปสู่การใช้ระบบได้จริง เช่น ชุดตรวจต้นแบบ ELISA test kit และ Lateral Flow rapid test kit เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยการติดโรคเท้าช้าง เครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เครื่องมือการวินิจฉัยภาวะออทิสซึมในระยะเริ่มแรกสำหรับเด็กไทย การประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการฉีด bevacizumab และ ranibizumab เข้าวุ้นตาในการรักษาผู้ป่วยโรคจอตา การใช้ Asia-Pacific Colorectal Cancer Risk Score และการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test) ในการช่วยตรวจคัดกรองเนื้องอกลำไส้ใหญ่ในประเทศไทย
งานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ อาทิ การศึกษาภาระงานและผลิตภาพกำลังคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) การพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ในเขตภาคเหนือ ประเมินการใช้เทคนิคการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2
งานวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ตัวอย่างโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการ อาทิ โครงการเตรียมการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 โครงการสำรวจสภาวะตาบอดตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2560 - 2562 โครงการทะเบียนศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการรักษาผู้ป่วยด้วยการทำการถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านทางผิวหนัง (Thai PCI Registry)
งานวิจัยและพัฒนาระบบริการสุขภาพ อาทิ วิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในประเทศไทย การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อชะลอการล้างไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การประเมินความครอบคลุมอย่างมีประสิทธิผลของบริการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคเบาหวาน กรณีศึกษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
งานวิจัยและพัฒนาการเงินการคลังสุขภาพ อาทิ การศึกษาการเข้าถึงบริการตรวจสรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry ที่มีประสิทธิภาพในโรงพยาบาลชุมชน การศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ของการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กที่มีปัญหาการหายใจเรื้อรัง และต้องการพึ่งพาการช่วยหายใจที่บ้าน การศึกษาความคุ้มค่าการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบ Video Assisted Thoracoscopic Surgery (VATS) เทียบกับการรักษาทางเลือกอื่น การศึกษาความคุ้มค่าการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์การรักษาด้วยเครื่องมือ Hyperbaric Chamber เพื่อการรักษาแผลเบาหวาน
งานวิจัยและพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพ อาทิ การประเมินการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: สังเคราะห์บทเรียนจากพื้นที่ 51 แห่งและทางเลือกในเชิงนโยบาย การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายของรัฐเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสธจ.)
งานวิจัยและพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มีการวิจัยพัฒนาเชิงระบบเพื่อการดูแลและให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นด้านการสร้างเสริมสมรรถนะ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ การพัฒนาเครือข่ายและรูปแบบค้นหาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการได้ยินในชุมชนต่อเนื่องระยะยาว โครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย การศึกษาแผนเพิ่มนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายและการกระจายตัวที่เหมาะสม รูปแบบการพัฒนานโยบายสาธารณะกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนอีสานภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ สวรส. ในช่วงปี 2561 ซึ่ง สวรส.ยังคงเดินหน้าเพื่อสร้างความรู้เชิงประจักษ์ สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างเป็นระบบ และแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป