บทคัดย่อ
งานนิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแพทย์ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ งานด้านการชันสูตรพลิกศพและงานนิติเวชคลินิก ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การปฏิบัติงานด้านนิติเวชศาสตร์ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ เพื่อให้บริการและสนับสนุนข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม แพทยสภาจึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติงานด้านนิติเวชศาสตร์ สำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้บัณฑิตแพทย์และแพทย์ทั่วไปทุกคนสามารถปฏิบัติงานนิติเวชศาสตร์ได้ตามเกณฑ์ ทั้งนี้การปฏิบัติงานนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ทั่วไปครอบคลุมและเพียงพอต่อการให้บริการ การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแพทย์ทั่วไปในภาคใต้ตอนบน ทั้ง 7 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกแพทย์ผู้เข้าร่วมวิจัยคือแพทย์ที่เป็นสัญชาติไทย แพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์นิติเวช แพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ที่ได้อนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรใดๆ จากแพทยสภาและเป็นแพทย์ทั่วไปจากโรงพยาบาลทั้ง 3 ระดับ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.เพื่อประเมินความมั่นใจและทัศนคติในการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ทั่วไป 2.เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นใจและทัศนคติในการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ทั่วไป 3.เพื่อศึกษาความต้องการต่อการเรียนการสอนทางด้านนิติเวชศาสตร์และสาขาอื่นๆ ระหว่างการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต 4.เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการทำงานด้านนิติเวชต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยครั้งนี้คือแพทย์ทุกคนที่ทำงานหน่วยบริการของรัฐในเขตสุขภาพที่ 11 ซึ่งมีทั้งหมด 526 คน การศึกษาครั้งนี้ใช้แบบสอบถามเป็นการสัมภาษณ์แพทย์ทั่วไปโดยให้แพทย์ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง แบบสอบถามนี้มีคำถามแบบตัวเลือก โดย 1 ข้อคำถามเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่ต้องการเรียนต่อบางสาขา อีก 3 ข้อคำถามความเห็นต่อการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพงานนิติเวชศาสตร์ในระบบสุขภาพไทย งานวิจัยชิ้นนี้ได้ผ่านการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (WUEC-16-146-01) โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช (EC 25/2561) โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (VPH REC 009/2018) และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี (EC 24/2561) ก่อนลงเก็บข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลทำการประเมินทัศนคติและความมั่นใจในการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ทั่วไป โดยการวิเคราะห์ด้วยการถดถอยลอจิสติค (logistic regression) เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อทัศนคติและความมั่นใจในการทำงานด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ทั่วไป ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงทำการศึกษาทัศนคติและความมั่นใจ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและความต้องการต่อการเรียนการสอนทางด้านนิติเวชศาสตร์ สำหรับแพทย์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและลดความผิดพลาดในระบบบริการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและกระบวนการยุติธรรมต่อไป