บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอโครงการประเมินความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของบริการตรวจเพทซีทีในประเทศไทย ซึ่งผ่านการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ทบทวนและอ้างอิงหลักฐานทางวิชาการ โดยมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของเทคโนโลยี มาตรการและบริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ที่มา: เครื่องเพทซีที (Positron emission tomography–computed tomography; PET/CT) เป็นเครื่องมือทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกันของเครื่อง PET (Positron Emission Tomography) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography; CT) ใช้ในการตรวจดูความผิดปกติของเซลล์ระดับเมตาบอลิซึม (metabolism) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพทางด้านรังสีที่ตรวจวัดอนุภาคโพสิตรอนที่ปล่อยจากตัวผู้ป่วยหลังจากได้รับสารเภสัชรังสีเข้าไปในร่างกาย PET/CT เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวินิจฉัยโรคหลายข้อบ่งชี้ (indication) ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ในการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT ของประเทศไทยยังไม่เป็นมาตรฐานและมีข้อจำกัดในการพัฒนาเกณฑ์ข้อบ่งชี้ในประเทศไทยเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนราคาในการตรวจต่อครั้งค่อนข้างสูงซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจำนวนมากได้ ส่งผลให้จำนวนการตรวจน้อย อีกทั้งกรณีของโรคค่อนข้างหลากหลายทำให้ยากในการกำหนดมาตรฐานจึงได้มีการรวบรวมหลักฐานทางวิชาการที่แสดงข้อบ่งชี้อันเหมาะสมของการใช้ PET/CT จากต่างประเทศ นอกจากนี้ การจัดบริการการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและเครื่องมือ (เครื่อง PET/CT และสารเภสัชรังสี) ปัจจุบันมีการให้บริการอยู่ในโรงเรียนแพทย์เป็นส่วนใหญ่ หากมีการส่งเสริมให้มีการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดบริการในหลายมิติ ได้แก่ ความสามารถในการรองรับผู้ป่วย ความคุ้มค่าและภาระงบประมาณของการตรวจวินิจฉัยร่วมด้วย วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อประเมินความคุ้มค่าการตรวจเพทซีทีและความเป็นไปได้ในการกำหนดให้มีการจัดการเบิกจ่ายชดเชยการทำเพทซีทีเป็นการเพิ่มเติมจากการจ่ายชดเชยทั่วไปในหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีการเข้าถึงบริการได้ตามความจำเป็นอย่างมีคุณภาพ วิธีการศึกษา: การศึกษานี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจวินิจฉัยด้วยเพทซีที: กรณีศึกษาใน 3 โรค และส่วนที่ 2 การศึกษาต้นทุนและจุดคุ้มทุนของการใช้เครื่องเพทซีทีในประเทศไทยและศึกษาความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการ ผลการศึกษาแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ การศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการตรวจวินิจฉัยด้วยเพทซีที: กรณีศึกษาใน 3 ข้อบ่งชี้ ประกอบด้วย (1) การประเมินระยะโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กก่อนการรักษา (2) การประเมินระยะโรคในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่มีการกลับคืนของโรค และ (3) การประเมินระยะโรคก่อนการรักษา ระหว่างการรักษาและหลังได้รับการรักษาครบในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินและการศึกษาต้นทุน จุดคุ้มทุนของการใช้เครื่องเพทซีทีในประเทศไทยและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติการ คณะผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาและเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเพทซีทีใน 3 ข้อบ่งชี้ ตลอดจนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนและจัดสรรทรัพยากรในระดับประเทศ