บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชนที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลมาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอในการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและลดความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ในการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชากรกลุ่มเด็กอายุ 0–12 ปี ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับบริการน้อยกว่าประชากรกลุ่มเดียวกันที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท ผลการศึกษาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีประสบการณ์การจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน พบว่าการดึงคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยสำคัญคือ การให้บริการของภาครัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้และต้องมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น การมีกองทุนทันตกรรม การทำ CUP-Split หรือการมีระเบียบพิเศษที่ทำให้การบริหารงบประมาณสามารถแยกงบประมาณทางทันตกรรมออกมาจากงบประมาณรายหัวได้ โดยการจัดบริการควรมีคณะกรรมการบริหารในระดับจังหวัดเพื่อให้สามารถบริหารโครงการได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม รูปแบบที่เหมาะสมในช่วงต้นโครงการคือ การทำสัญญาจ้างเอกชนร่วมบริการโดยการจ่ายเงินแบบรายบริการและมี Gate Keeper ที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วย ความท้าทายหลักของการจัดบริการคือ งบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นและแนวโน้มการให้บริการเกินความจำเป็น ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยการมีระบบการกำกับ ติดตามและประเมินผลที่รัดกุม นอกจากนี้ผู้วิจัยได้มีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจากคลินิกทันตกรรมทั่วประเทศ 4,679 คลินิก โดยจากคลินิกที่ทำการติดต่อไปทั้งหมด 746 คลินิกได้ข้อมูลมาทั้งหมด 196 คลินิกคิดเป็นร้อยละ 26.3 ผลการสำรวจพบว่า คลินิกทันตกรรมในประเทศไทยมีจำนวนเก้าอี้ทำฟันเฉลี่ย 2.5 ตัว คลินิกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 87) เปิดทำการในวันธรรมดานอกเวลาราชการ และวันเสาร์ วันอาทิตย์ (ร้อยละ 98 และ 80 ตามลำดับ) เมื่อสอบถามถึงศักยภาพในการให้บริการผู้ป่วย เจ้าของคลินิกถึงร้อยละ 77 ตอบว่าสามารถรับคนไข้ได้เพิ่มในส่วนของความสนใจในการร่วมให้บริการในโครงการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชนร้อยละ 34 มีความสนใจที่จะร่วมบริการและร้อยละ 45 มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมหากเงื่อนไขจูงใจมากพอ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจคือ อัตราค่าตอบแทน ความรวดเร็วในการจ่ายเงินและความยุ่งยากในด้านงานเอกสาร นอกจากนี้ยังได้มีการเก็บข้อมูลค่าบริการของคลินิกทันตกรรมที่ถูกสัมภาษณ์รวมถึงอัตราค่าบริการที่ยอมรับได้ในการเข้าร่วมให้บริการ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองเพื่อจัดทำโครงการต่อไป โดยสรุปผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ในเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชากรกลุ่มเด็กในเขตเมืองได้โดยการเพิ่มศักยภาพของระบบบริการทันตกรรม โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Partnership) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ดีการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชนเป็นเพียงการจัดเงื่อนไขของระบบบริการให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของประชาชนมากขึ้น แต่การจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางทันตกรรม รวมถึงการเพิ่มความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การจัดระบบบริการทางทันตกรรมปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ มาตรการกำลังคน การรณรงค์เพิ่มความความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้ารับบริการสุขภาพช่องปากของประชาชน เป็นต้น