บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะที่ดีของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีในสวนส้ม: กรณีศึกษา ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นการวิจัยปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ เพื่อให้ได้แนวทางการควบคุม การส่งเสริม การป้องกันและการรักษาโรคที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการสำรวจพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรสวนส้มตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นำผลที่ได้คืนสู่ชุมชนและจัดกระบวนการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในการกำหนดปัจจัยการส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรสวนส้มให้มีสุขภาวะที่ดี ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากแหล่งทุนวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยเฉพาะการแนะนำแนวทางวิจัยที่เป็นการบูรณาการสหสาขาวิชา ซึ่งมีการสื่อสารเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงความไม่เข้าใจและความสับสนของคนในพื้นที่กับผู้ออกกฎระเบียบในประเทศ การเปิดรับฟังสภาพปัญหาที่เป็นจริงในช่วงก่อนการออกข้อบังคับยกเลิกสารเคมีประเภทพาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chropyriphose) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 งานวิจัยนี้จึงได้ประโยชน์ด้านข้อมูลก่อนและหลังการประกาศยกเลิกและเป็นการสะท้อนมุมมองด้านการสื่อสารที่เกี่ยวกับงานวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแยกออกจากกันผ่านการสื่อสารทั้งในเชิงสารคดี บทความวิชาการ และการรายงานข่าว อันจะทำให้เกิดความสับสนในข้อมูลที่ผู้รับสารเปิดรับและมีระดับในการตีความหมายแตกต่างกัน ขณะเดียวกันผู้วิจัยยังอาศัยการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ใช้สารเคมีในกลุ่มเกษตรกร ที่มีทั้งระดับที่ตั้งใจอย่างมากและเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นต้นแบบหรือผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง และระดับที่ยังลังเลสงสัยและสนใจรายได้ที่จะได้กลับคืนมาสู่ครอบครัวมากกว่าสุขภาพของเกษตรกรในชุมชนเดียวกัน ผ่านการสร้างสรรค์สื่อที่เหมาะสมกับการตอบสนอง โดยได้สื่อจำนวน 5 เรื่อง ที่มาจากการวางแผน ออกแบบ เขียนบท เล่าเรื่อง สู่กระบวนการผลิต และแสดงโดยคนในชุมชน ผ่านการตัดต่อด้วยทีมงานมืออาชีพ ก่อนเผยแพร่และประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประชาชนทั่วไป และคนในชุมชน ปรับแก้ไขและได้ผลงานสารคดีที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนจากนักวิจัยที่อยู่ในพื้นที่และนักวิจัยที่อยู่ภายนอกพื้นที่ รวมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานราชการทั้งด้านการสาธารณสุข ด้านการเกษตร และด้านการสื่อสาร งานวิจัยนี้จึงเป็นการสานงานที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ในมุมผู้ผลิตสื่อ เกษตรกรไปยังผู้บริโภคที่เป็นปลายทางสุดท้ายในกระบวนการรับรู้การเปลี่ยนแปลงของการไม่ใช้สารเคมีของเกษตรกรอย่างยั่งยืน