บทคัดย่อ
จากการศึกษาการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในเด็กอายุ 1-3 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดสกลนคร พบสารกำจัดศัตรูพืชที่ผิวหนังบริเวณมือและเท้าของเด็กที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 100 อันเนื่องมาจากเด็กในช่วงวัยนี้มีพฤติกรรมและกิจกรรมแตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ เช่น การอมมือ การเก็บสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารเข้าปาก การคลาน การเล่นบริเวณพื้นหรือบริเวณที่สัมผัสกับดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมและมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำในฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชมากกว่าเด็กที่อยู่อาศัยในพื้นที่อื่น อีกทั้งเด็กอายุ 1-3 ปี เป็นกลุ่มที่เปราะบางและอาจมีความเสี่ยงในการสัมผัสสูงจากการอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองในการป้องกันการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในเด็กอายุ 1 – 3 ปี ที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมนั้นไม่เป็นไปตามพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เนื่องจากบริบทของพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช ประกอบกับผู้ปกครองไม่ได้มีวิธีในการดูแลเด็กที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเด็กที่อยู่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครอง ได้แก่ การออกจากพื้นที่เมื่อได้กลิ่นของสารเคมีที่มีการฉีดพ่น (กลิ่นมา พากันวิ่งหนี) การดูแลเด็กเหมือนกันกับเด็กที่อยู่อาศัยในพื้นที่อื่นที่ไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช (ลูกฉัน ก็เหมือนเด็กทั่วไป) การรับรู้ว่าเด็กในพื้นที่ต้องได้รับสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (ป้องกันไม่ได้ ยังไงก็ต้องสัมผัส) เป็นต้น การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชของเด็กอายุ 1-3 ปี ที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการที่มีการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องได้รับการป้องกันและลดการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรม โดยผู้ปกครองเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลและป้องกันในการลดการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชให้กับเด็ก การศึกษาในครั้งนี้ทำให้ทราบชนิดและปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างบริเวณผิวหนังของเด็กที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมและได้นำผลการศึกษาไปพัฒนา “โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ปกครองในการป้องกันการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในเด็กที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และเป็นแนวทางในการลดและป้องกันการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในเด็กที่อาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม อย่างไรก็ตามการศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการป้องกันและลดการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรม ต้องอาศัยพลังความร่วมมือของชุมชน ภาคเอกชนและภาครัฐบาลในการร่วมมือในทุกระดับอย่างเข้มแข็งต่อไป