บทคัดย่อ
การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ Health Technology Assessment (HTA) เป็นการศึกษาผลกระทบด้านบวกและลบที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งรวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและจริยธรรม คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA guidelines) ถือเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพได้มาตรฐานและมีคุณภาพ มีการพัฒนาคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทยมาแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2551 และ ฉบับที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2557 แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ก้าวหน้าและองค์ความรู้ในงานวิจัยที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาและปรับปรุงให้คู่มือฯ มีความทันต่อความก้าวหน้าด้านวิชาการและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยพิจารณาถึงปัญหาและข้อจำกัดของคู่มือฯ ทั้งสองฉบับ และจากประสบการณ์ของการนำคู่มือฯ ไปใช้ รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง/กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากคู่มือฯ ทั้งหมด ที่มีต่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่นอกเหนือจากความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ได้คู่มือฯ ที่ตรงตามความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง/กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ทบทวนคู่มือฯ ฉบับล่าสุดของหน่วยงาน HTA ในต่างประเทศที่น่าเชื่อถือหรือได้รับการยอมรับ สำหรับใช้ในปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอแนะในการประเมินเทคโนโลยี/มาตรการสุขภาพ และ 2) เพื่อประเมินคู่มือฯ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 ด้านการนำไปใช้ประโยชน์ ประสบการณ์ของผู้ใช้ ปัญหาจากการใช้คู่มือฯ ความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการเปลี่ยนแปลงคู่มือฯ ของประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษานี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ (1) การทบทวนวรรณกรรม/คู่มือ/แนวทางการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพของหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อสังเคราะห์รายละเอียดที่มีปรากฏในวรรณกรรม/คู่มือ/แนวทางการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย (2) การสำรวจการใช้คู่มือฯ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 เพื่อวิเคราะห์ถึงรูปแบบที่เหมาะสมของคู่มือฯ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้มากที่สุด ซึ่งในส่วนนี้จะใช้ระเบียบวิธีวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ (3) การประเมินการใช้คู่มือผ่านงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในประเทศและต่างประเทศ (4) การจัดประชุมเชี่ยวชาญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเนื้อหาที่ได้จากการสังเคราะห์การทบทวนคู่มือฯ ในต่างประเทศ และการสำรวจการใช้คู่มือฯ เพื่อกำหนดเนื้อหาและทบทวนรายละเอียดในคู่มือฯ ฉบับที่ 3 (ฉบับปรับปรุง) เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการนิพนธ์คู่มือฯ สำหรับประเทศไทยต่อไป