บทคัดย่อ
คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกที่สามารถพัฒนาระบบความปลอดภัยทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของกระบวนการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นศึกษาบริบทชุมชน 2) ขั้นพัฒนาชุดข้อมูลการบาดเจ็บ การเสียชีวิตทางถนนและกำหนดปัญหา 3) ขั้นวางแผนพัฒนาโดยคืนข้อมูลให้กับภาคีเครือข่ายผ่านเวทีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยบนท้องถนน พื้นที่เป้าหมาย 6 อำเภอ ในจังหวัดน่าน ที่มีสถิติการบาดเจ็บทางถนนสูงและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ คือ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเมือง อำเภอเวียงสา อำเภอสองแคว อำเภอสันติสุข และ 4) ขั้นติดตามตรวจสอบประเมินผล และปรับมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ฐานข้อมูลและระบบรายงานการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนของห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมชน และเครื่องมือ 5 ชิ้น ตามกระบวนการวางแผนแบบ Logical Model ประกอบด้วย 1) สามเหลี่ยมปัจจัยกำหนดสุขภาพและแผนที่จุดเสี่ยงการบาดเจ็บทางถนน 2) แผนภูมิต้นไม้ปัญหา 3) บันไดผลลัพธ์ 4) การวิเคราะห์แรงเสริม-แรงต้าน และ 5) การรวบรวมข้อมูลสะท้อนผลลัพธ์ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย 1) การประเมินต้นน้ำ คือ มีการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุและนำมาสู่การกำหนดมาตรการ หรือการจัดทำแผนงานโครงการ/นโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา โดยใช้เครื่องมือการวางแผนแบบ Logical Model 2) การประเมินกลางน้ำ คือ บทบาท/กลไกการทำงานของคณะกรรมการ พชอ.ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการจัดการความปลอดภัยทางถนน จำนวนจุดเสี่ยงการบาดเจ็บทางถนนที่ได้รับการแก้ไขและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่ปลอดภัยตาม 10 ข้อหาหลัก หรือ “10 รสขม” ที่เป็นประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ และ 3) การประเมินปลายน้ำ คือ การประเมินข้อมูลจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนต่อแสนประชากร เปรียบเทียบก่อนกับหลังดำเนินโครงการ และผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพหลังดำเนินโครงการ ได้แก่ จำนวนภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมและรูปแบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ผลการวิจัยพบว่า คณะทำงานในพื้นที่วิจัยมีการใช้เครื่องมือ 5 ชิ้นและการวางแผนแบบ Logical Model ในการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธานคณะทำงานและกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีประสิทธิผลในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนภาคีเครือข่ายและการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน คือ 1) สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บทางถนนลง 2) สามารถลดจำนวนครั้งการบาดเจ็บทางถนน 3) สามารถลดจุดเสี่ยงการบาดเจ็บทางถนนลดได้ด้วยความร่วมมือของชุมชนและภาคีเครือข่าย และ 4) เกิดรูปแบบการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน โดยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอสามารถผลักดันให้เกิดการแก้ไขจุดเสี่ยงทางถนน มาตรการทางสังคม การเขย่าสาธารณะและการจัดการเชิงกลไกของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องผ่านการสั่งการและการประสานงานของภาคราชการ ซึ่งเป็นการจัดการกับปัจจัยด้านถนนและสิ่งแวดล้อม ยังมีข้อจำกัด คือ ยังไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งควรกำหนดโจทย์วิจัยสู่การพัฒนากลไกการทำงานของภาคประชาชนในชุมชนหมู่บ้านในลักษณะของชุมชนนำร่องขับขี่ปลอดภัย หรือตำบลขับขี่ปลอดภัยด้วยกลวิธีด่านครอบครัว หรือด่านชุมชน