บทคัดย่อ
ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจนทั่วโลกแล้วว่าการส่งเสริมการขายยามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสั่งจ่ายยาที่ไม่สมเหตุผล ส่งผลทำให้เกิดปัญหาการบริโภคยาเกินจำเป็น บริโภคยาราคาแพงเกินควรทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 องค์การอนามัยโลกให้มีการจัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา (WHO Ethical Criteria for Medicinal Drug Promotion) เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับประเทศสมาชิกนำไปประยุกต์ใช้ตามความสมัครใจและตามบริบทของแต่ละประเทศ และในเวทีสมัชชาองค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ.2007 องค์การอนามัยโลกยังคงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามารับผิดชอบในการติดตามและสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งประเทศไทยได้พัฒนาเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย ตามแนวทางองค์การอนามัยโลก โดยออกประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2557 และ พ.ศ.2559 และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2557 เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย อาศัยหลักการและแนวคิดของการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ความโปร่งใส ตรวจสอบได้และจริยธรรมในการสั่งใช้ยา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างเสริมธรรมาภิบาลในระบบยาของโรงพยาบาล การนำเกณฑ์จริยธรรมฯ ไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (service plan RDU) ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โดยเป็นการดำเนินการตามแนวทางโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามกุญแจสำคัญ 6 ประการ (P-L-E-A-S-E) ซึ่ง E- Ethics เป็นแนวทางที่ส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา วัตถุประสงค์การวิจัย ประกอบด้วย 1) เพื่อสำรวจสถานการณ์การรับรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ ในโรงพยาบาลรัฐ 2) เพื่อพัฒนาเครื่องมือประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ จริยธรรมการสั่งใช้ยาและธรรมาภิบาลในระบบยาของโรงพยาบาลรัฐ และ 3) เพื่อทดลองประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา จริยธรรมการสั่งใช้ยาและธรรมาภิบาลในระบบยาของโรงพยาบาลรัฐด้วยเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยแบบผสมวิธี (mixed methods) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ในการพัฒนาแบบสำรวจสถานการณ์และแบบประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา ผลการศึกษา นำเสนอ 3 ส่วน ตามวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้ ส่วนที่ 1 ผลสำรวจสถานการณ์การรับรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ ในโรงพยาบาลรัฐ ส่วนที่ 2 การพัฒนาเครื่องมือประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ และ ส่วนที่ 3 ผลการนำเครื่องมือไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วม สรุปการศึกษา สถานการณ์การรับรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ ในโรงพยาบาลรัฐของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ ในภาพรวมเห็นได้ว่ามีสัดส่วนการรับรู้ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการรับรู้ในอดีตที่ผลการศึกษาในปี พ.ศ.2559-2560 พบการรับรู้เพียงร้อยละ 30-40 และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเขตสุขภาพ หรือขนาดโรงพยาบาล ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างตำแหน่งและวิชาชีพผู้บริหารซึ่งหมายถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลและหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมมีแนวโน้มที่มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแพทย์ผู้ปฏิบัติงานมีแนวโน้มที่มีการรับรู้และความเข้าใจน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจกล่าวโดยรวมได้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการเฝ้าระวังหรือกำกับติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมอย่างจริงจัง การขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารสู่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดกิจกรรมให้มีระบบการเฝ้าระวังหรือกำกับติดตามการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาเครื่องมือประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ ที่พัฒนาขึ้นมุ่งหวังประเมินเพื่อพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลระบบยาในระดับโรงพยาบาล จากผลการทดลองประเมินการนำเกณฑ์จริยธรรมไปปฏิบัติที่ได้นำเสนอจากโรงพยาบาลที่รับและไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทยา มีผลการประเมินคะแนนที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากโรงพยาบาลที่รับและไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทยาต่างได้รับการประเมินว่าขาดหลักฐานมาแสดงเช่นเดียวกัน อีกทั้งการจัดทำแนวปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมของโรงพยาบาลไม่ได้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน นอกจากนี้โรงพยาบาลที่เป็นกรณีตัวอย่างทั้งสองแห่งยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรม ทำให้ไม่ได้รับคะแนนในส่วนนี้ ซึ่งประเด็นส่วนขาดเหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการพัฒนาต่อไป ส่วนการให้โรงพยาบาลรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามธรรมาภิบาลระบบยาว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา พบว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อมูลการสั่งซื้อยาและการสั่งยาของแพทย์ตามประเด็นที่เสนอไว้พร้อมในการรายงาน และจำเป็นต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล ทำให้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเวลาที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตควรมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมพร้อมกับการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเตรียมข้อมูลและสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่วิเคราะห์ได้ต่อไป และจัดทำคู่มือการประเมินให้สมบูรณ์ รวมถึงการทบทวนแนวทางการใช้ข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นเพื่อวิเคราะห์ประกอบการติดตามธรรมาภิบาลระบบยาว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา