บทคัดย่อ
ตั้งแต่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบบริการทันตกรรมก็ให้ความสำคัญที่การเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการเป็นสำคัญ ต่อมาเมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) สาขาสุขภาพช่องปากก็ยึดอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นตัวชี้วัดหลัก โดยในระยะเวลา 5 ปีแรก (พ.ศ. 2556 - 2560) ได้กำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนา 3 ประเด็น คือ 1. ขยายบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2. พัฒนาบริการสุขภาพช่องปากในเขตเมือง และ 3. พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดบริการสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลทุกระดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาสุขภาพช่องปาก ได้ปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานสำหรับปี พ.ศ. 2559 – 2563 เป็น 3 ด้าน คือ 1. เพิ่มคุณภาพบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากตามกลุ่มวัย 2. เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสุขภาพช่องปาก และ 3. พัฒนาระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางระดับจังหวัดและศูนย์ความเชี่ยวชาญสาขาสุขภาพช่องปาก และได้มีการจัดทำข้อเสนอ “แนวทางการศึกษาฝึกอบรมทันตแพทย์เฉพาะทางของสถานบริการสุขภาพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดระบบริการทันตกรรมเฉพาะทางของหน่วยงานบริการสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา การศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาสถานการณ์ของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางและประเมินการนำนโยบายการพัฒนาระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางไปสู่การปฏิบัติในระดับเขตสุขภาพ เพื่อสังเคราะห์เป็นข้อเสนอต่อการกำหนดความต้องการและการบริหารจัดการ การใช้และการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงแนวทางการพัฒนาองค์ประกอบด้านอื่นๆ ของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางที่จะช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของทันตแพทย์เฉพาะทางในระดับเขตสุขภาพเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกระบวนการที่ใช้ในการศึกษาอาศัยการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบาย การสัมภาษณ์และอภิปรายกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับเขตสุขภาพ การสำรวจการรับรู้ต่อนโยบายและความพร้อมในการปฏิบัติงานของทันตแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิในแง่จำนวน การกระจาย และผลิตภาพการจัดบริการทันตกรรมเฉพาะทางของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผลจากการทบทวนความเป็นมาและพัฒนาการของนโยบายการพัฒนาระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางของกระทรวงสาธารณสุข สังเกตได้ว่าพื้นฐานของการวางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพตั้งแต่สมัยที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ในการจัดขนาดโรงพยาบาล ต่อเนื่องการพัฒนามาเป็นเครือข่ายบริการระดับจังหวัด ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากการวางระบบบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ โดยระดับความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันของแพทย์จะเป็นตัวแบ่งขอบเขตงานตามระดับศักยภาพหน่วยบริการ ในขณะที่บุคลากรสาขาวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงทันตแพทย์ ไม่มีการระบุถึงระดับความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับระดับหน่วยบริการ เป็นเพียงการกำหนดจำนวนรวมของความต้องการตามประเภทวิชาชีพเท่านั้น แม้ว่าในระยะต่อมาจะมีการจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสาขาสุขภาพช่องปากขึ้น ก็มีการกำหนดเพียงขอบเขตงานบริการทันตกรรมที่ควรจัดให้มีในหน่วยบริการระดับต่างๆ แต่ไม่มีการระบุถึงระดับความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์ที่สอดคล้องตามขอบเขตงานนั้น ที่น่าสังเกตคือเมื่อมีการพัฒนาระบบโควตาศึกษาต่อของทันตแพทย์ ก็ไม่พบข้อมูลประกอบการตัดสินใจในแง่ขอบเขตสมรรถนะของการศึกษาแต่ละระดับหลักสูตรเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่ชัดเจนของการวางแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับระบบบริการ และส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อมโยงการวัดผลิตภาพที่คาดหวังได้ตามสมรรถนะของบุคลากร โดยพบว่าการดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมาไม่ปรากฏตัวชี้วัดที่ใช้กำกับติดตามการพัฒนาที่แสดงถึงการจัดบริการได้ตามมาตรฐานที่วางเป้าหมายไว้ แต่เน้นเพียงการพัฒนาให้มีจำนวนทันตแพทย์เฉพาะทางตามเกณฑ์เป้าหมายเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะของทันตแพทย์แต่ละระดับเพื่อใช้ประกอบการวางแผนความต้องการทันตแพทย์เฉพาะทาง และควรปรับปรุงระบบกำกับติดตามผลการดำเนินงานที่เชื่อมโยงแผนการพัฒนาทันตแพทย์กับผลิตภาพตามเป้าหมายในภาพรวมของระบบบริการต่อไป