บทคัดย่อ
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (โควิด-19) ได้กลายเป็นปัญหาด้านการดูแลสุขภาพและสาธารณะมีความรุนแรงทั่วโลกนับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรกในปลายเดือนธันวาคม 2019 ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (SARS-CoV-2) ได้ ถึงแม้ว่าประชากรได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้ว ซึ่งโครงการวิจัยเรื่อง ความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน ในประชากรผู้ใหญ่หลังให้วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (Sinovac) ครบแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกัน ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษา (1) เพื่อศึกษาความปลอดภัยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ต่างชนิดกันในประชากรผู้ใหญ่ที่มีการรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) ครบ 2 เข็มแล้ว และ (2) เพื่อศึกษาผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน ในการให้วัคซีนเข็มที่ 3 ต่างชนิดกันในประชากรผู้ใหญ่ที่มีการรับวัคซีนชนิดเชื้อตาย (ซิโนแวค) ครบ 2 เข็มแล้ว โดยงานวิจัยฉบับนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ งานวิจัยส่วนที่ 1 การศึกษาความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน ในประชากรผู้ใหญ่หลังให้วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (CoronaVac) ครบแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สามต่างชนิดกัน โดยให้ในระยะห่างเป็นเวลา 3 เดือน งานวิจัยส่วนที่ 2 การศึกษาความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน ในประชากรผู้ใหญ่หลังให้วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (CoronaVac) ครบแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สามต่างชนิดกัน โดยให้ในระยะห่างเป็นเวลา 6 เดือน และงานวิจัยส่วนที่ 3 การศึกษาความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิต้านทาน ในประชากรผู้ใหญ่หลังให้วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (CoronaVac) ครบแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สามชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอขนาดครึ่งโดสและเต็มโดส โดยให้ในระยะห่างเป็นเวลา 6 เดือน โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การกระตุ้นด้วยวัคซีนโควิดชนิดต่างๆ ที่ระยะเวลา 3 เดือน (งานวิจัยส่วนที่ 1) และ 6 เดือน (งานวิจัยส่วนที่ 2 และงานวิจัยส่วนที่ 3) จากผลการศึกษาทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นต่างชนิด (mix and match) ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อตาย (BBIBP, Sinopharm) วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (AZD1222, AstraZeneca) วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ (BNT162b2, Pfizer) ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่เคยรับวัคซีนเชื้อตาย (CoronaVac) ครบ 2 เข็มมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน (short-interval) และการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตาย (BBIBP) วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ (AZD1222) วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ (BNT162b2) ขนาดครึ่งโดสและขนาดเต็มโดส และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ (mRNA-1273/ Moderna) ขนาดครึ่งโดสและขนาดเต็มโดส ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่เคยรับวัคซีนเชื้อตาย (CoronaVac) ครบ 2 เข็มมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน (long-interval) มีความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับได้ โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการปวดบริเวณที่ฉีด อาการไข้ มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มอาสามัครที่ได้รับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ ซึ่งอาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงภายในไม่กี่วันหลังจากได้รับวัคซีน และไม่มีรายงานการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งเป็นอาการจากผลการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับการดำเนินโครงการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายจากที่กล่าวข้างต้น สามารถนำมาใช้เป็นแบบแผนสำหรับการจัดการวัคซีนในอนาคต เป็นประโยชน์ต่อตัวประชาชนโดยตรงเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับที่ดี สามารถยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนา 2019 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อทางสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในการจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สรุปได้ว่า การกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และเอ็มอาร์เอชนิดต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยเหมาะแก่การจัดสรรวัคซีนในอนาคต รวมถึงผลของการลดปริมาณหรือขนาดการใช้วัคซีนเพียงครึ่งนึงก็เพียงพอสำหรับเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการลดมูลค่าค่าใช้จ่ายในการจัดสรรวัคซีน และการกระจายวัคซีนที่มีความขาดแคลนในประเทศและประชาคมโลกได้เป็นอย่างดี