บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์กำลังคนด้านการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในและต่างประเทศ ศึกษาอุปสงค์และอุปทานของกำลังคนด้านการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และคาดการณ์กำลังคนการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย โดยใช้รูปแบบผสมผสานทั้งงานวิจัยเชิงปริมาณ คือ การสำรวจแบบภาคตัดขวางและงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์การจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญและการศึกษาดูงานการจัดการ AMR ในโรงพยาบาล รวมทั้งการทบทวนวรรณกรรมเพื่อให้ได้ทั้งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ การสำรวจใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับทั้งหมด 1,267 คน แยกเป็น แพทย์ 240 คน เภสัชกร 249 คน พยาบาล 306 คน นักเทคนิคการแพทย์/นักจุลชีววิทยา 259 คน และนักระบาดวิทยา 213 คน ส่วนการสัมภาษณ์ มีผู้ให้ข้อมูล รวม 20 คน จากโรงพยาบาลภาครัฐ 16 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (8 แห่ง) โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ (6 แห่ง) และโรงเรียนแพทย์ (1 แห่ง) ผู้ให้ข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เป็นแพทย์ 4 คน เภสัชกร 5 คน พยาบาล 4 คน นักเทคนิคแพทย์ 2 คน และนักระบาดวิทยา 5 คน ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมผู้เชี่ยวชาญ (Expert meeting) จำนวน 15 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน 2564 สำหรับภาคการผลิตมีการสำรวจข้อมูลจากสถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพต่างๆ และสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิชาชีพ สมาคม/ชมรมด้านโรคติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนทั้งหมด 17 คน แบ่งเป็นวิชาชีพแพทย์ 9 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เภสัชกร 3 คน พยาบาล 3 คน และนักเทคนิคการแพทย์ 2 คน ผลจากการสำรวจจากแบบสอบถาม จากบุคลากรทางการแพทย์ 5 กลุ่ม คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์/นักจุลชีวิทยา และนักระบาดวิทยา จำนวน 1,267 คน เกือบทั้งหมดมีบทบาทในคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อหรือคณะกรรมการการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาล ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการ/คณะทำงานในโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน ส่วนใหญ่ผู้ให้ข้อมูลวิชาชีพแพทย์จะมีบทบาทเป็นประธานหรือรองประธาน และพยาบาลจะเป็นเลขาหรือผู้ช่วยเลขาฯ ของคณะกรรมการ ในขณะที่อีก 3 กลุ่มที่เหลือมีบทบาทเป็นกรรมการ ซึ่งโดยภาพรวมมีการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ครอบคลุม งานเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา งานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาล แต่ละวิชาชีพมีการเน้นการทำงานแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาจากการสำรวจและสัมภาษณ์มีความสอดคล้องกัน ผลจากแบบสอบถาม พบว่า บุคลากรทางการแพทย์เห็นความสำคัญของการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance : AMR) และรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะทำงานนี้ ส่วนใหญ่มีเจตคติเชิงบวกต่อการทำงาน แต่ในด้านความพึงพอใจต่อปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น พบว่า ทุกกลุ่มวิชาชีพนั้น คะแนนความพึงพอใจในด้านสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานทั้งในโรงพยาบาลและกับทีมสหวิชาชีพที่ทำงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล (Infection Prevention Control: IPC, IC)/AMR ด้วยกัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าปัจจัยอื่นๆ ในขณะที่ด้านความก้าวหน้าในงาน/วิชาชีพ มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และกลุ่มพยาบาลมีค่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 4 กลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับผลการสัมภาษณ์ที่พบว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งคือ ความก้าวหน้าในสายงาน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าตอบแทน การลาศึกษาต่อ จึงไม่จูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งทำงานด้านนี้หรืออาจจะต้องโยกย้ายงานเพื่อความก้าวหน้าในสายงานหรือวิชาชีพ สำหรับการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลด้านการผลิตบุคลากรทางการแพทย์นั้น พบว่าปัญหาและอุปสรรคในการผลิตบุคลากรด้านนี้หลายประการ ได้แก่ มีผู้สนใจเรียนต่อด้านนี้ลดลงเมื่อเทียบกับสาขาเฉพาะทางอื่นๆ และสำหรับผู้ที่สนใจก็ไม่ได้รับการสนับสนุนการศึกษาต่อ/เพิ่มเติมจากหัวหน้างานหรือต้นสังกัดเนื่องจากขาดคนทำงานในโรงพยาบาล ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ที่ชัดเจนรองรับหลังเรียนจบ อีกทั้งสถาบันการศึกษา/ฝึกอบรมที่มีข้อจำกัดด้านจำนวนรับผู้สนใจศึกษาต่อ เนื่องจากมีแหล่งฝึกงานที่มีคุณภาพไม่เพียงพอ ทำให้จำนวนบุคลากรเฉพาะทางมีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม จากการมีแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาฯ ทำให้มีการจัดอบรมระยะสั้น 4 เดือน ทำให้มีการฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้และทักษะเพื่อทำงานด้าน IC/AMR ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นทางแก้ไขปัญหาการขาดบุคลากรได้ในระดับหนึ่ง จากการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนทั้ง 5 วิชาชีพ คือ แพทย์โรคติดเชื้อ เภสัชกรคลินิกด้านโรคติดเชื้อ พยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา (ได้แก่ นักเทคนิคการแพทย์ นักจุลชีววิทยา) และนักระบาดวิทยาในโรงพยาบาลนั้น ซึ่งใช้หลายวิธีร่วมกัน คือ การคำนวณอัตรากำลัง (Full-time equivalent: FTE) การคำนวณจากจำนวนเตียงและจำนวนโรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อใช้ในการคาดการณ์ ซึ่งแต่ละวิขาชีพมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงใช้หลักการคำนวณที่แตกต่างกัน การคำนวณอัตรากำลัง โดยใช้ FTE จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการคาดการณ์จำนวนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (ไม่นับรวมโรงพยาบาลชุมชนระดับ F1-F3) พบว่า แพทย์มีความต้องการอัตรากำลังเพื่อทำงานด้าน AMR โดยเฉพาะในโรงพยาบาลระดับ M1 จำนวน 12 คน, S จำนวน 15 คน และ A 14 คน และโรงเรียนแพทย์ 27 คน แต่ถ้าพิจารณาจากจำนวนโรงพยาบาล โดยใช้แนวคิดว่าควรมีแพทย์ที่รับผิดชอบด้านการจัดการเชื้อดื้อยาโดยเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่ง ดังนั้น ควรมีทั้งหมด 294 คน ส่วนเภสัชกรมีแนวคิดเช่นเดียวกับแพทย์ คือ ต้องการจำนวน 1 คน เพื่อรับผิดชอบงานด้าน AMR ในโรงพยาบาลทุกระดับ (ที่เตียงมากกว่า 120 เตียงขึ้นไป) นั่นคือ 294 คน เช่นกัน ความต้องการอัตรากำลังพยาบาลโรคติดเชื้อ (ICN) เพื่อทำงานด้าน IC/AMR โดยเฉพาะ พิจารณาจากจำนวนเตียง ควรมี ICN จำนวนทั้งหมด 728 คน ในขณะที่นักเทคนิคการแพทย์ ต้องการเพิ่มอีก 1 คน หรือจำนวนทั้งหมด 294–357 คน เมื่อพิจารณาจากจำนวนโรงพยาบาลและจำนวนเตียง เพื่อไปเสริมการทำงานด้าน AMR ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นร่วมกับจำนวนนักเทคนิคการแพทย์และนักจุลชีววิทยาที่มีอยู่เดิม (ลักษณะ on top) ส่วนนักระบาดวิทยาอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังคนแต่ควรเพิ่มพูนความรู้และทักษะในกลุ่มนักระบาดวิทยาที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมให้มีความสามารถในการทำงานด้าน AMR ร่วมกับทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ