บทคัดย่อ
การได้ยินเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต หากเด็กมีความผิดปกติทางการได้ยินจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพัฒนาการด้านการพูดและภาษารวมถึงการเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ ความจำ พฤติกรรม อารมณ์และสูญเสียโอกาสทางสังคมเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ข้อมูลอุบัติการณ์ของเด็กที่สูญเสียการได้ยินแบบถาวรคิดเป็น 1-3 คนต่อทารกที่ปกติ 1,000 คน และอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 2-4 คนต่อทารกที่ปกติ 100 คน ในทารกที่มีความเสี่ยง (high risk) เช่น ทารกที่รักษาตัวในหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิด (neonatal intensive care unit; NICU) สำหรับประเทศไทยมีจำนวนการเกิดมีชีพใน พ.ศ. 2560 จำนวน 656,571 คน โดยเกิดในโรงพยาบาล จำนวน 631,198 คน (ร้อยละ 96.1) และพบอุบัติการณ์ของการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิด 1-2 คนต่อทารกเกิดมีชีพ 1,000 คน และอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น 10–20 เท่าในทารกกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตามรายงานอุบัติการณ์ของภาวะสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทยค่อนข้างมีน้อยเนื่องจากการตรวจคัดกรองไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ใช่อัตราการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทยที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดนโยบายให้มีการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในกลุ่มเสี่ยงเป็นนโยบายหลักของประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรทางการแพทย์จึงไม่สามารถผลักดันการตรวจคัดกรองในทารกแรกเกิดทุกรายได้ อีกทั้งการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งการให้ความสำคัญ การดำเนินงานที่ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม ดังนั้นการศึกษาการขยายบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบบริการฯ ในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการขยายบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด รวมทั้งบริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การวินิจฉัย การรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้ 1) ศึกษาลักษณะ (features) ของระบบการให้บริการในพื้นที่ต้นแบบ ปัจจัยสนับสนุน อุปสรรค และผลลัพธ์ของการให้บริการ ทั้งในพื้นที่ที่ให้บริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดทุกรายและพื้นที่ที่ให้บริการตรวจคัดกรองการได้ยินเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 2) ศึกษาลักษณะ (features) ของระบบการให้บริการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ 3) ศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด การวินิจฉัยปัญหาการได้ยินและการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน และ 4) ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบด้านงบประมาณจากการให้บริการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย ผลการศึกษาที่สำคัญ พบว่า พื้นที่ที่ศึกษามีรูปแบบการให้บริการตรวจคัดกรองการได้ยิน วินิจฉัยและรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินทั้งในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มปกติ ซึ่งพบข้อจำกัดที่สำคัญของการดำเนินงานโดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในระดับโรงพยาบาล กล่าวคือ การให้บริการฯ เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายทำให้บางครั้งการประสานงานเกิดความล่าช้า รวมถึงการระบุผู้ประสานงานหลัก มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือและบุคคล โดยเฉพาะนักแก้ไขการได้ยินที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความความต้องการบริการ นอกจากนี้ยังพบปัญหาสถานที่ให้บริการที่ไม่เหมาะสม การขาดการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่องและระบบบันทึกข้อมูลที่มีความหลากหลายและไม่เชื่อมโยงกัน เป็นต้น ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการขยายบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านระบบบริการ 2) ด้านกำลังคน 3) ด้านเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือสำหรับการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัย 4) ด้านการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการ 5) ด้านระบบบันทึกข้อมูลและการรายงานผล และ 6) สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการได้ยิน