บทคัดย่อ
ในปี พ.ศ. 2555 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เริ่มแผนงานวิจัยและพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพ และได้จัดตั้งศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) (ปัจจุบันคือ สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.)) เห็นว่าประเทศไทยควรพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพเพื่อเป็นฐานรากของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (HealthIT/eHealth) ของประเทศ มาตรฐานข้อมูลสุขภาพมาตรฐานแรกที่ศึกษาวิจัย คือ มาตรฐานข้อมูลและรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย ผลจากการศึกษาพบว่ามาตรฐานสากล Logical Observation Identifiers Names and Codes (LOINC) มีความสอดคล้องกับบริบทการบริการสุขภาพไทยเห็นควรนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย จนเมื่อ ปี พ.ศ. 2560 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้มีการปรับรายการค่ารักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับการบริการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไป จึงมีประกาศให้ใช้ LOINC ในการจัดหมวดหมู่และรหัสรายการการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่เนื่องจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลของกรมบัญชีกลาง มีความเห็นว่ารายการและรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการฯ ที่ใช้สำหรับการเบิกจ่ายฯ ไม่ควรมีความละเอียดเหมือนกับรายการในมาตรฐาน LOINC จึงมอบหมายให้ สมสท. ศึกษาและพัฒนามาตรฐานบัญชีข้อมูลและรหัสมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ไทย (Thai Medical Laboratory Terminology, TMLT) ให้ทันสมัย และให้บริการข้อมูลมาตรฐาน TMLT กับกองทุนประกันสุขภาพ หน่วยบริการสุขภาพ และหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนั้น ในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้ง สมสท. ได้รวบรวมมาตรฐาน LOINC และ TMLT จัดทำเป็นหนังสือ “บัญชีข้อมูลและรหัสมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ไทย” เล่มนี้ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจ นักวิชาการ ผู้ใช้มาตรฐาน TMLT ผู้ปฏิบัติงานด้านเวชสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ ทั้งนี้ สมสท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ระบบข้อมูลสุขภาพและมาตรฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศไทยให้ดียิ่งขี้นต่อไป