บทคัดย่อ
ภาวะกระดูกสะโพกหัก (hip fracture) ในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของระบบสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย การรักษาโดยการผ่าตัดเร็ว (fast track surgery) และการดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพก่อนและหลังผ่าตัด ทีมวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาติดตาม โครงการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก ตามแนวทาง Fast Track Surgery for Hip Fracture Program ในโรงพยาบาลนำร่อง เพื่อต้องการศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยหลังการดูแลแบบ fast track surgery ในโรงพยาบาลนำร่อง โครงสร้างในโรงพยาบาลและการปรับเปลี่ยนเพื่อการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางคลินิก ผลการศึกษาพบว่า การดูแลคนไข้กระดูกสะโพกหักในประเทศไทย ยังมีอัตราการผ่าตัดเร็วต่ำ มีการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดสูงถึงร้อยละ 40 โดยในโรงพยาบาลนำร่อง มีอัตราการผ่าตัดเร็วและอัตราการผ่าตัดรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ โดยโรงพยาบาลนำร่องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและกระบวนการเพื่อให้มีการดูแลคนไข้กลุ่มนี้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามยังเปลี่ยนได้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่มีการแนะนำ ผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยพบว่า อัตราการตายรวมในโรงพยาบาลนำร่องที่มีการผ่าตัดเร็วมีแนวโน้มจะลดลงหลังมีโครงการนำร่อง แต่ยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยสำคัญน่าจะเกิดจากการที่โครงสร้างและกระบวนการดูแลตลอดความเจ็บป่วยยังทำได้ไม่ครบองค์ประกอบที่สำคัญ จากการวิเคราะห์เชิงถดถอยพหุคูณเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อผลลัพธ์ทางคลินิกโดยวิเคราะห์ในระดับโรงพยาบาล พบว่า ปัจจัยที่มีผลลดอัตราการตายที่ 1 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ การมีอายุรแพทย์ร่วมดูแลหลังผ่าตัด ปัจจัยที่มีผลลดอัตราการตายที่ 3 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ การมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูร่วมดูแลหลังผ่าตัด การศึกษาผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อการดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในประเทศไทย พบว่า ผลของการแพร่ระบาดไม่ได้ส่งผลลบต่ออัตราการผ่าตัดเร็วและผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยกลุ่มนี้
บทคัดย่อ
Hip fracture in older people is one of the major public health issues worldwide including Thailand. Appropriate care for older people with hip fracture includes fast track surgery and perioperative multidisciplinary team care. This study aimed to monitor pilot hospitals involved in ‘Fast Track Surgery for Hip Fracture Program’ to explore patients’ outcomes and factors associated with the clinical outcomes. We discovered that the operation rate for hip fracture in older people in Thailand remains suboptimal. The rate of non-operative surgery remains high around 40 %. Hospitals in pilot project had higher rate of patients received ‘fast track surgery’ compared to hospitals nationwide. Moreover, pilot hospitals had made significant changes to the policy and process of care for this group of patients. However, some recommended processes could not be arranged. With respect to patients’ outcomes, the mortality rates tend to be reducing in pilot hospitals but did not reach statistically significant. This could stem from the finding that several recommended quality indicators could not be arranged. Multivariate linear regression models were carried out to determine factors at hospital level affecting mortality. Having internists involved in postoperative care significantly associated with lower one-year mortality. Having rehabilitation specialists involved in postoperative care is also associated with lower three-month mortality. Covid-19 pandemic did not have negative impact to operation rate and mortality for hip fracture patients in Thailand.