บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความปลอดภัยและผลภูมิต้านทานหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตหรือวัคซีนโคโวแวกซ์ เมื่อให้เป็นเข็มกระตุ้นในประชากรผู้ใหญ่ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มในสูตรต่างๆ โดยศึกษาแบบ prospective cohort study ดำเนินการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยอาสาสมัครในโครงการวิจัยนี้ ได้แก่ ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่มตามชนิดวัคซีน 2 เข็มที่เคยได้รับมาก่อน คือ กลุ่มที่ 1 คือ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายซิโนฟาร์ม (BBIBP-CorV) โดยมีระยะห่าง 2 เข็ม เท่ากับ 3-4 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 คือ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนไวรัลเวกเตอร์แอสตราซีนีก้า โดยมีระยะห่าง 2 เข็ม เท่ากับ 8-12 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 คือ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (BNT162b2) 2 เข็ม โดยมีระยะห่าง 2 เข็ม เท่ากับ 3-4 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 4 คือ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนสูตรสลับระหว่างวัคซีนเชื้อตายซิโนแวคตามด้วยวัคซีนไวรัลเวกเตอร์แอสตราซีนีก้า โดยมีระยะห่าง 2 เข็ม เท่ากับ 3-4 สัปดาห์ โดยมีการรับวัคซีนทั้ง 2 เข็มมาจากโรงพยาบาลอื่น ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลในระบบหมอพร้อม และมารับวัคซีนเข็มสาม (booster) เป็นวัคซีนโคโวแวกซ์ 1 เข็ม ที่ศูนย์ฯ หรือจุดบริการฉีดวัคซีนทั้งหมด 10 แห่งในจังหวัดชลบุรี ระยะห่างระหว่างเข็ม 2 และ 3 อยู่ที่ 3 ถึง 10 เดือนหลังจากเข็ม 2 ความปลอดภัยจากการรับวัคซีนจะทำการประเมินโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ที่ให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง สำหรับผลภูมิต้านทานจะทำการวิเคราะห์โดยการตรวจวัดระดับแอนติบอดีชนิดที่จับกับโปรตีนตัวรับของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดั้งเดิมและทดสอบความสามารถของแอนติบอดีในการป้องกันการเข้าเซลล์ของไวรัส สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 รวมไปถึงตรวจวัดการตอบสนองของ T-cell ผลการวิจัยพบว่า อาสาสมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและมีคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 210 คน จากการศึกษาความปลอดภัยจากการรับวัคซีน พบว่าประชากรส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีนทั้งแบบ local และ systemic ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังการฉีดวัคซีน อยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง สำหรับผลการตรวจวัดผลภูมิต้านทานหลังจากการรับวัคซีนเข็ม 3 มีการวัดที่ 14 และ 28 วัน พบว่า อาสาสมัครส่วนใหญ่ มีผลการกระตุ้นภูมิต้านทานในระดับที่สูง ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่มี nucleocapsid เป็นลบ พบว่า มีค่า neutralizing activity ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอมิครอนใกล้เคียงกันทั้ง 4 กลุ่ม โดยมากกว่า 95% และ 70% ตามลำดับ นอกจากนี้การได้รับวัคซีนโคโวแวกซ์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของ T-cell ได้อีกด้วย สรุปผลการวิจัย: วัคซีนโควิด-19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตหรือวัคซีนโคโวแวกซ์ เมื่อให้เป็นเข็มกระตุ้นในประชากรผู้ใหญ่ที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มในสูตรต่างๆ มีประสิทธิภาพดีในการกระตุ้นภูมิต้านทานและมีความปลอดภัย
บทคัดย่อ
Objectives: To report the safety and immunogenicity profile of a protein subunit vaccine (CovovaxTM) given as a third (booster) dose to individuals primed with different primary vaccine regimens. Methods: A third dose was administered to individuals with an interval range of 3-10 months after the second dose. The four groups were classified according to their primary vaccine regimens, including two-dose BBIBP-CorV, AZD1222, BNT162b2, and CoronaVac/AZD1222. Immunogenicity analysis was performed to determine binding antibodies, neutralizing activity, and the T-cell responses. Results: Overall, 210 individuals were enrolled and boosted with the CovovaxTM vaccine. The reactogenicity was mild to moderate. Most participants elicited a high level of binding and neutralizing antibody against Wild-type and Omicron variants after the booster dose. In participants who were anti nucleocapsid immunoglobulin G-negative from all groups, a booster dose could elicit neutralizing activity to Wild-type and Omicron variants by more than 95% and 70% inhibition at 28 days, respectively. The CovovaxTM vaccine could elicit a cell-mediated immune response. Conclusion: The protein subunit vaccine (CovovaxTM) can be proposed as a booster dose after two different priming dose regimens. It has strong immunogenicity and good safety profile