บทคัดย่อ
ในปัจจุบันการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในเขตชนบทเป็นปัญหาประการสำคัญของการใช้ทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ที่มีอยู่ในประเทศไทย การจัดสรรบุคลากรเข้าสู่เขตชนบทประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่บุคลากรส่วนใหญ่เหล่านั้นก็ย้ายออกภายในระยะเวลาไม่กี่ปี นอกจากมีบุคลากรที่พอเพียงแล้ว ผลิตภาพของบุคลากรก็เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนชนบทด้วย
การทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับมาตรการและวิธีการต่างๆ เพื่อลดการลาออกและเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ที่เคยนำใช้มาแล้วในอดีตทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่ายังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่ามาตรการใดสามารถนำมาใช้ในประเทศได้เลย ทั้งนี้วรรณกรรมต่างประเทศเป็นการศึกษาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างจากประเทศไทยในหลายประการ ส่วนมาตรการที่ใช้ในประเทศไทยก็ยังไม่พบวรรณกรรมแสดงการศึกษาผลของมาตรการต่อการคงอยู่และผลิตภาพ
อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมที่พบชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่สามารถใช้เป็นแนวทางการศึกษาเพื่อพัฒนานโยบายเพิ่มการคงอยู่ได้หลายประการคือ ควรคัดเลือกนักศึกษาที่มีความต้องการทำงานในเขตขาดแคลน และจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักศึกษาเหล่านั้นให้ออกไปทำงานตามที่ตั้งใจได้ ต้องจัดให้มีค่าตอบแทนด้านการเงินในระดับที่เทียบเคียงได้กับการทำงานในส่วนอื่น มาตรการต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายของบุคลากรในแต่ละสถานการณ์ และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานแก่บุคลากร มีความสำคัญต่อความพอใจงานและการคงอยู่
วรรณกรรมที่พบไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า การบริหารบุคลากรและองค์กรแนวใหม่ อันได้แก่ การบริหารเชิงกลยุทธ์ การบริหารผลิตภาพ การใช้ระบบการให้รางวัลแบบ PRP และการสนับสนุนการฝึกอบรมสามารถเพิ่มการคงอยู่ในเขตชนบทหรือเขตขาดแคลน และผลิตภาพของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะยังขาดการปฏิบัติที่เหมาะสม
แนวทางการศึกษาเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาการใช้บุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพจึงได้แก่ การประเมินมาตรการที่เคยใช้มาแล้วในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นประเด็นผลกระทบต่อการคงอยู่และผลิตภาพเพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข หรือคัดเลือกและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของมาตรการต่างๆ ที่ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเหล่านี้สำหรับสถานการณ์ในอนาคต แล้วนำมาศึกษานำร่องแบบ Action research