บทคัดย่อ
โอโซน (Ozone; O3) เป็นแก๊สธรรมชาติที่ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Christian Friedrich Schonbein นักเคมีชาวเยอรมัน เมื่อ ค.ศ. 1840 โดยตั้งชื่อตามภาษากรีกว่า ozein ซึ่งแปลว่ากลิ่น โอโซนเกิดขึ้นจากออกซิเจนในบรรยากาศได้รับรังสีเหนือม่วง-เอ (UVA) แล้วทำให้โมเลกุลของออกซิเจน (O2) แตกตัวเป็นอะตอมอิสระไปจับกับโมเลกุลของออกซิเจนตัวอื่น (O+O2) กลายเป็นแก๊สโฮโซน (O3) ตามปรกติ 1 โมเลกุลของออกซิเจนจะประกอบด้วยอะตอมออกซิเจน 2 อะตอม แต่โอโซนเป็นโมเลกุลของออกซิเจนที่ประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม สมบัติดังกล่าวทำให้โอโซนไม่เสถียร สามารถทำปฏิกิริยากับสารอื่นที่มีค่าพลังงานต่ำกว่า (ภายใต้อุณหภูมิ ความร้อน และความดัน) เกิดปฏิกิริยาเติมออกซิเจน (ออกซิเดชั่น) ได้อย่างรวดเร็วและให้พลังงานสูงถึง 2.07 โวลต์ สมบัติดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างถึงประโยชน์ของโอโชนในเชิงพานิชย์ โอโซนให้คุณและโทษทั้งทางตรงและทางอ้อม การลดโทษของโอโชนคงต้องโยงไปถึงการช่วยกันลดภาวะโลกร้อน โดยการลดปริมาณการใช้สาร CFC หรือลดปริมาณการผลิตแก๊สเรือนกระจกหรือสารเคมีต่างๆ ที่มีผลต่อการทำลายชั้นโอโชน การนำเอาโอโซนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและเชิงพานิชย์นั้น ผู้บริโภคคงต้องพิจารณาและคำนึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ และผู้ผลิตคงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย