บทคัดย่อ
นโยบายรัฐบาลในการดำเนินการโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2544 นั้น กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตัดสินใจใช้รูปแบบการจ่ายเงินแก่สถานพยาบาล ในระบบปลายปิด ได้แก่ รายจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยนอก และกำหนดเพดานงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยใน เมื่อเป็นเช่นนั้น มีความจำเป็นจะต้องคำนวณอัตราเหมาจ่ายสำหรับบริการต่างๆ จึงทำการศึกษานี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงวิธีการคำนวณความต้องการงบประมาณสำหรับบริการต่างๆ ในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการปรับอัตราเหมาจ่ายให้เหมาะสมกับความเสี่ยงเป็นหลายอัตราจำแนกตามกลุ่มอายุ (Age adjusted caption) ทำการศึกษาระหว่ง มกราคม – มีนาคม 2544 โดยอาศัยข้อมูล ได้แก่ ฐานข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนต่อหน่วยผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ของสถานพยาบาลระดับต่างๆ ในปีล่าสุดที่สามารถสืบค้นได้ และรายจ่ายกรณีค่ารักษาพยาบาลราคาแพง และอุบัติเหตุฉุกเฉินของการประกันสังคม ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของประชากรไทยจากการสำรวจอนามัย และสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2539 นอกจากนี้ การวิเคราะห์อัตราเหมาจ่ายจำแนกตามกลุ่มอายุ อาศัยการสำรวจค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จำแนกตามกลุ่มอายุ จากสถานพยาบาลของรัฐในปี 2544 จากโรงพยาบาลตัวอย่าง การศึกษานี้พบว่า ความต้องการงบประมาณเท่ากับ 1,202 บาทต่อคนต่อปี จำแนกเป็นต้นทุนสำหรับบริการผู้ป่วยนอก 574 บาท บริการผู้ใน 303 บาท บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคส่วนบุคคล 175 บาท บริการกรณีค่ารักษาพยาบาลราคาแพง 32 บาท บริการกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน 25 บาท งบประมาณเพื่อการลงทุน 93 บาท รวมทั้งสิ้น 1,202 บาทต่อคนต่อปี อัตราเหมาจ่ายกรณีบริการผู้ป่วยนอกจำแนกตามกลุ่มอายุ ด้วยเหตุผลว่า โครงสร้างอายุจะมีความแตกต่างของอัตราการเจ็บป่วยการใช้บริการ และค่ารักษาพยาบาลแตกต่างกัน การกำหนดให้มีหลายอัตราจำแนกตามกลุ่มอายุ จะเกิดความเป็นธรรมแก่สถานพยาบาลที่รับขึ้นทะเบียนประชากรผู้สูงอายุ และป้องกันปัญหาการกีดกันไม่รับขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ และพบว่าอัตราเหมาจ่ายกรณีผู้ป่วยนอก สำหรับกลุ่มอายุ ต่อไปนี้ 0 – 4, 5 – 9, 10 – 14, 15 – 24, 25 – 44, 45 – 59, 60 – 69 และ 70+ ปี มีอัตราเหมาจ่ายเท่ากับ 529,327, 257, 182, 340, 922,1,781 และ 2,132 บาทต่อคนต่อปี เฉลี่ยทุกกลุ่มอายุ 574