บทคัดย่อ
แรงกดดันจากสังคมภายนอกเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเร้อรังระยะสุดท้าย และความจำกัดของทรัพยากรสุขภาพภาครัฐ เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้รัฐบาลจำเป็นต้องคัดเลือกผู้ป่วยบางรายที่เหมาะสมเพื่อเข้ารับบริการทดแทนไต หากการคลังสุขภาพของรัฐไม่สามารถจัดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้องรังทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการขยายบริการทดแทนไตภายใต้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการคัดเลือกผู้ปวยไตวายเรื้อรังเข้าสู่บริการทดแทนไต นอกจากนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นค่าใช้จ่ายในการขยายบริการทดแทนไตทั้งในด้านแหล่งที่มาของการคลังสุขภาพและอัตราร่วมจ่ายที่เหมาะสม รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ จะช่วยให้การตัดสินใจด้านนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น
วิธีการศึกษาใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงสำรวจภาคสนาม โดยมีกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 18-60 ปี เป็นประชากรเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่จาก 10 จังหวัดทั่วประเทศ การเลือกตัวอย่างใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิหลายชั้น (stratified multi-stage sampling) โดยมีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 2,361 ตัวอย่าง
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างกือบทั้งหมดเห้นด้วยต่อการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงบริการทดแทนไตภายใต้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยประชาชนประมาณร้อยละ 50 เห็นด้วยที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลทั้งหมด ทั้งนี้ หากมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่บริการทดแทนไต ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า แพทย์เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุดในการตัดสินใจคัดเลือกผู้ป่วย โดยหลักเกณฑ์ที่ประชาชนให้ความสำคัญเรียงตามลำดับคือ 1) ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 2) ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน 3) ผู้ป่วยที่เป็นหลักในการหาเลี้ยงชีพของครอบครัว
ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยที่ให้ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและระบบประกันสังคมใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วย เช่นเดียวกับผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้เพื่อให้ระบบการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าสู่บริการทดแทนไตเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ สำหรับการร่วมจ่ายค่าบริการทดแทนไตนั้น ประชาชนร้อยละ 80 ยินดีที่จะจ่ายเงินถ้ามีการจัดเก็บเงินสมทบ (contribution) จากประชาชนทุกคนที่มีรายได้ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยฯ โดยมีค่ามัธยฐานของจำนวนเงินที่ประชาชนยินดีและสามารถจ่ายสมทบได้เท่ากับ 50 บาทต่อเดือน หรือ 600 บาทต่อปี ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ตนเองมีความสามารถในการจ่ายร่วม (co payment) ในการเข้ารับบริการทดแทนไต ได้ไม่เกิน 100 บาทต่อครั้ง หรือประมาณ 800 บาทต่อเดือนเท่านั้น
จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ยังไม่มีความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังกับประชาชน รวมทั้งให้ข้อมูลผลกระทบทางด้านงบประมาณที่จะเกิดขึ้นหากรัฐจำเป็นต้องแบบรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งในท้ายที่สุด รัฐบาลอาจจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์บางอย่างในการคัดเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อเข้ารับบริการทดแทนไต อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นจากการสำรวจนี้มาจากกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่ก็อาจส่งผลกระทบให้ความคิดเห็นบางส่วนมีอคติ (bias) ในระดับหนึ่ง