บทคัดย่อ
นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อให้ประชาชนไทยมีหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่มีอุปสรรคทางด้านการเงิน และส่งผลให้เกิดความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและจัดระบบบริการสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์นำเสนอกรอบทิศทางหลักของนโยบายระดับประเทศ และผลักดันนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขต่อนโยบายสุขภาพ การปฏิรูประบบสุขภาพไทย ความเป็นธรรมด้านการคลังสุขภาพ และด้านสถานะสุขภาพ
การศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงพรรณนา ส่งแบบสอบถามไปยังผู้บริหารระดับ ๙ และ ๑๐ ที่ปฏิบัติงานในส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๘๐ ราย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ และคณะผู้วิจัยได้รับแบบสอบถาม ตอบกลับ ๔๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของแบบสอบถามที่ส่งไปทั้งหมด พบว่าผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญกับนโยบายสุขภาพ ๓ ลำดับแรก คือ ความเพียงพอของการคลังสุขภาพคุณภาพบริการ และการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนยากจน นโยบายที่บรรลุผลสูงสุด คือ การเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วหน้า แต่นโยบายการเฉลี่ยทรัพยากรสุขภาพจากที่มีทรัพยากรหนาแน่นไปยังที่มีทรัพยากรน้อยและจากเขตเมืองไปยังชนบทที่ห่างไกลไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เห็นว่าภาคเอกชนควรเพิ่มบทบาทในทุกด้านของการบริการสุขภาพ ในประเด็นด้านความเป็นธรรม การคลังในระบบบริการสุขภาพ ผู้บริหารส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายน้อยเกินไป และในด้านรายจ่ายสุขภาพของครัวเรือนนั้น ผู้บริหารเห็นว่า การจ่ายค่าบริการด้านสุขภาพควรเป็นไปตามความสามารถในการจ่ายของผู้รับบริการ นอกจากนี้ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากยาสูบและสุราเพื่อนำมาใช้สำหรับการดูแลสุขภาพเป็นการเฉพาะ
ในกรณีที่รัฐมีงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐควรให้ความสำคัญกับการลงทุนสถานพยาบาลระดับต้น โดยให้ความเห็นว่าเป็นการพัฒนาสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง และบริการสุขภาพประเภทนี้มีต้นทุนต่ำกว่าบริการสุขภาพทุติยภูมิและคติยภูมิในประเด็นความเป็นธรรมด้านสถานะสุขภาพนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากกับ การเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันและประชาชนควรได้ใช้บริการสาธารณสุขเท่าเทียมกันไม่ว่ากรณีผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในและเห็นด้วยกับการลดช่องว่างของระดับชนชั้นทางสังคม และพื้นที่ และให้ความสำคัญต่อโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า แม้ว่าจะให้ประโยชน์ต่อคนรวยก็ตาม
การตัดสินใจในการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณในโครงการต่าง ๆ เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วมอย่างมากในการตัดสินใจ มากกว่าผู้กำหนดนโยบายที่เป็นข้าราชการประจำและเห็นว่าการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสาธารณชนต่อทิศทางการกำหนดนโยบายการดูแลสุขภาพของรัฐบาลนั้นสามารถทำได้