บทคัดย่อ
กระบวนการกระจายอำนาจและหลักการปกครองตนเอง (Decentralization and Local Self-government) ส่งผลให้เกิดการขยายบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน แนวความคิดในการจัดการปกครองท้องถิ่นของไทยจึงเกิดขึ้นจากฐานความคิดในการจัดการบำรุงเมือง รักษาความสะอาด และจัดสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งถือเป็น ส่วนหนึ่งของการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ต่อมาเมื่อภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน การปกครองท้องถิ่นของไทยและการกระจายอำนาจมีพัฒนาการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมเชิงเปรียบเทียบกับการ ปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่เกิดขึ้นในอดีตหรือพิจารณาจากลักษณะโครงสร้าง ความหมายและคุณค่าของการปกครองท้องถิ่นของประชาชนสะท้อนให้เห็นว่าการปกครองท้องถิ่นของไทยมีพัฒนาการและมีพลวัตที่สูงมาก การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยุคปัจจุบันได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา โดยมีกระบวนการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดนโยบายพื้นฐานให้รัฐสนับสนุนการกระจายอำนาจมีการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้มีความชัดเจน มีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) มีแผนการดำเนินงาน แผนปฏิบัติการ กระบวนการติดตาม และกลไกสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะ มีการกำหนดการจัดสรรภาษีระหว่างรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายมิติ นำไปสู่การจัดบริการสาธารณะและการจัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริการประชาชน การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านจัดการสิ่งแวดล้อมสอดรับกับปัญหาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่และมีความรุนแรงสูง เนื่องจากที่ผ่านมาภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านสิ่งแวดล้อม ยังอยู่ใน “ขั้นต้น” และเป็นการปฏิบัติในเชิงพื้นฐานตามแก้ไขปัญหารายวัน นอกจากนี้ยังขาดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยการกำกับดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมในระดับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมชนิด “วันต่อวัน”และสามารถตอบสนองปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันใจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และคุณภาพของการให้บริการและปิดช่องว่างความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้