บทคัดย่อ
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาภูมิทัศน์การเคลื่อนย้ายทรัพยากรอาหารทั้งภายในและระหว่างประเทศได้เปลี่ยนรูปแบบไป อย่างมากด้วยแรงผลักดันทั้งจากผู้บริโภคในสังคมสมัยใหม่และจากประเทศผู้นำเข้าที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้นและจากผู้ผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรที่ได้ขยาย ตัวและปรับฐานะของตนเองจาก ‘คนกลาง’ ที่ทำหน้าที่เพียงจัดส่งระบาย/กักเก็บสินค้าจากเกษตรกร เข้ามามีบทบาทอื่นๆ ทางการตลาดที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น การจัดจำหน่ายปัจจัยการผลิตการแปรรูปและการส่งออกหรือที่เรียกกันว่า ‘การรวมตัวในแนวดิ่ง’ (Vertical Integration) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การผลิตสินค้าอาหารของไทยหลายชนิดมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่เรียกว่า ‘กระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรม’ กล่าวคือ มีการเน้นการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีทางการผลิตและการจัดการที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อเป้าหมายเชิงประสิทธิภาพต่างๆ เช่น การลดต้นทุนลดความ เสี่ยงหรือเพิ่มมูลค่าของผลผลิตมากที่สุด ในขณะที่เกษตรกรที่เดิมใช้ระบบการผลิตแบบครัวเรือนหรือในฟาร์มขนาดเล็ก (ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าและมักจะเผชิญกับความเสี่ยงทางรายได้ที่สูง) จำนวนหนึ่งก็ต้องพยายามปรับตัวโดยสร้างความหลาก หลายของแหล่งรายได้ในฟาร์มมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็ผันตัวเองไปเป็นแรงงานนอกภาคการเกษตรซึ่งได้ผลตอบแทนทาง เศรษฐกิจที่สูงกว่า พลวัตเหล่านี้ได้เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร รวมทั้งนำมาสู่การเกิดขึ้นของระบบความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างเกษตรกรและผู้เล่นอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิตที่เน้นการ รวมตัวและกำกับดูแลซึ่งกันและกันระหว่างขั้นตอนการตลาดมากขึ้นซึ่ง ‘เกษตรพันธสัญญา’ (Contract Farming) ถือ เป็นรูปแบบความสัมพันธ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์นี้