บทคัดย่อ
ข้อมูลด้านอนามัยและสวัสดิการที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการประเมินผลโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ให้ดำเนินการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ขึ้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้วนความครอบคลุมของประชากร ภาวะการเจ็บป่วยของประชากรไทยก่อนและหลังมีนโยบายสุขภาพถ้วนหน้า แบบแผนการเลือกใช้บริการรักษาพยาบาล และอัตราการใช้สิทธิในโครงการฯ ตลอดจนบักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ไม่มีสวัสดิการใดๆ
ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณา วิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.๒๕๔๖ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้สุ่มครวเรือนตัวอย่างจากทุกจังหวัดเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรทั้งประเทศได้ครัวเรือนตัวอย่าง ๒๖,๕๒๐ ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อมูลจากการสำรวจสามารถนำมาคำนวณและประมาณค่าเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรทั้งประเทศได้โดยการถ่วงน้ำหนักตามระเบียบวิธีทางสถิติ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ภายหลังการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถครอบคลุมประชากร ๔๗.๗ ล้านคนหรือร้อยละ ๗๔.๗ ของประชากรทั้งประเทศ ให้มีหลักประกันการรักษาพยาบาลแต่ยังมีผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ๓.๒ ล้านคน (ร้อยละ๕) อัตราการเจ็บป่วยของประชากรในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี ๒๕๔๖ กรณีผู้ป่วยนอก เท่ากับ ๔.๙๓ ครั้ง/คน/ปี เพิ่มขึ้นจาก ๔.๑๐ ครั้ง/คน/ปี ในปี ๒๕๔๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐.๑ อัตราการนอนโรงพยาบาลเท่ากับ๐.๐๗๖ ครั้ง/คน/ปี ในปี ๒๕๔๔ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๘ แบบแผนการเลือกใช้บริการรักษาของประชากรในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเปลี่ยนแปลงพอสมควร โดยเปลี่ยนไปใช้บริการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลปฐมภูมิและโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น การใช้บริการในโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ ลดลง แสดงถึงความสำเร็จของโครงการฯ การใช้สิทธิรักษาพยาบาล กรณีผู้ป่วยนอกมีการใช้สิทธิบัตรทองร้อยละ ๕๖.๖ กรณีผู้ป่วยในมีการใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ ๘๐.๙
ข้อเสนอแนะ รัฐควรให้การสนับสนุนทรัพยากรทั้งงบประมาณและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอให้สอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ และโรงพยาบาลชุมชน อกทั้งควารมีมาตรการดำเนินการให้ผู้ที่ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ