บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคำนวณอัตราเหมาจ่ายปีงบประมาณ 2548 โดยใช้หลักการคำนวณเช่นเดียวกับปี 2545-2547 แต่ปรับห้วงเวลาของฐานข้อมูลอัตราการใช้บริการและต้นทุนให้เป็นปี 2548 ในการศึกษาอัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในสถานพยาบาล ใช้วิธีการพยากรณ์ด้วยสมการที่ให้ค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ(R2) สูงที่สุด โดยใช้ฐานข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ (สอส.) ปี 2539, 2544 และ 2546 เพื่อทำนายอัตราการใช้บริการปี 2548 ส่วนการเลือกใช้สถานพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในใช้แบบแผนเดียวกับที่ได้จาก สอส. 2546 เนื่องจากเป็นปีที่มีการดำเนินงานตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเต็มพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย ข้อมูลต้นทุนการรักษาพยาบาล ใช้ฐานข้อมูลต้นทุนปี 2546 ปรับให้เป็นต้นทุนปี 2548 ดัชนีราคาผู้บริโภคและการเพิ่มขึ้นข้องต้นทุนบุคลากรนอกจากนี้ยังกำหนดให้ต้นทุนคงที่ในปีงบประมาณที่วิเคราะห์อัตราเหมาจ่าย ต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนคงที่ในปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราเหมาจ่ายของบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ทำการปรับตัวเลขที่ใช้ในปี 2547 ด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคให้เป็นปี 2548 บริการฟันปลอมและการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังคงใช้ตัวเลขเดิมของปี 2547 ส่วนงบประมาณลงทุนเพื่อลงทุนทดแทน ประมาณการด้วยวิธีการเดิมคือ ร้อยละ 10 ของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
อัตราการเหมาจ่ายรายหัวที่คำนวณได้สำหรับปีงบประมาณ 2545-2550 หกปีติดต่อกัน เท่ากับ 1,202, 1,447, 1,792, 1,903 และ 2,032 บาทต่อคนต่อปีตามลำดับ อัตราเหมาจ่ายรายหัวมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีการเพิ่มมากในปี 2546 ถึงร้อยละ 18 ของปีก่อนทั้งนี้เพราะอัตราใช้บริการก้าวกระโดดระหว่างปี 2539 และปี 2544 อัตราเหมาจ่ายปี 2548 เพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 23 เพราะเหตุผลหลายประการกล่าวคือ ใช้ฐานข้อมูลอัตราการใช้บริการและต้นทุนการรักษาตรงกับปีงบประมาณที่จัดทำอัตราเหมารจ่ายการกำหนดให้ต้นทุนคงที่ของสถานพยาบาลทุกระดับต้องไม่ต่ำกว่าปีก่อนและปรับฐานเงินเดือนบุคลากรในกลางปีงบประมาณ 2547
ในปีงบประมาณ 2549 ไม่จำเป็นต้องคำนวณอัตราเหมาจ่ายกรณีรักษาพยาบาลใหม่ แต่ต้องตรวจสอบความแม่นยำของการพยากรณ์ทั้งข้อมูลต้นทุนและอัตราการใช้บริการ โดยใช้ข้อมูล สอส. ปี 2539, 2544, 2546 และ 2547 มาพยากรณ์ สิ่งที่จำเป็นต้องมีการทบทวนและทำการวิเคราะห์ใหม่คืออัตราเหมาจ่ายสำหรับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค
ใน 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ให้งบประมาณตามอัตราเหมาจ่ายเชิงวิชาการที่คำนวณได้ ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังภาครัฐและปัญหาอื่นๆ และด้วยข้อจำกัดของข้อมูลที่ล่าช้า 2 ปี ดังนั้นอัตราเหมาจ่ายรายหัวในปี 2545-2547 น่าจะต่ำกว่าต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น ทำให้การคลังสุขภาพมีสภาพไม่เพียงพอ (CHRONIC UNDER-FINANCING) คณะกรรมการการเงินการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงบประมาณ ต้องตระหนังถึงผลเสียของการไม่จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อคุณภาพบริการและระบบสุขภาพของไทย สปสช. ควรพิจารณาจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2544 มาตรา 39 โดยไม่ต้องผูกกับการจัดทำงบประมาณประจำปี ซึ่ง “กิจกรรมเหน็ดเหนื่อยประจำปี” ของการเจรจาต่อรองที่สำนักงบประมาณไม่ได้ใช้เหตุผลทางวิชาการอย่างเพียงพอ