บทคัดย่อ
การเคลื่อนไหวในสังคมไทยในการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาปรากฏเด่นชัดมากที่สุดในพื้นที่ของการพัฒนาชนบทและการขจัดปัญหาความยากจน อย่างไรก็ตามความสนใจแสวงหาแนวทางในการประยุกต์และบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการกําหนดนโยบายสังคมเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะให้มีความสมดุลและสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้นนั้น อาจเป็นผลมาจากการตระหนักถึงความเชื่อมโยงและผลกระทบของนโยบายสาธารณะที่มีต่อกันและควรมีการเตรียมการเผชิญและจัดการกับผลกระทบเชิงนโยบายแต่เนิ่น ในยุคสมัยที่เปิดการเสรีทางการค้าและการลงทุนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันว่าจําเป็นและสําคัญต่อความเจริญมั่นคงของสังคมนั้น ข้อถกเถียงหรือคําถามในเชิงผลกระทบทางสังคมต่อเป้าประสงค์เชิงเศรษฐกิจของนโยบายสาธารณะมักจบลงด้วยคําอธิบายที่ว่า การเปรียบเทียบนโยบายสาธารณะที่มีเป้าหมายแตกต่างกันแบบยืนกันคนละขั้วความคิดนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อน หรืออาจไม่ก่อให้เกิดผลอะไรมากนักเนื่องจากอุดมการณ์หรือพื้นฐานความคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายนั้นมีความแตกต่างแบบสุดโต่งอยู่แล้ว ในแวดวงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกําหนดนโยบายทางด้านสาธารณสุข คําถามที่ท้าทายมากที่สุด ณ ขณะนี้คือจะประสานเป้าหมายทางเศรษฐกิจของชาติและผลประโยชน์จากการสร้างรายได้ที่มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ภายใต้นโยบายศูนย์กลางบริการสุขภาพอย่างไรให้ลงรอยกันกับเป้าประสงค์ของการพัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิสวัสดิการของประชาชน ดังเช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วัตถุประสงค์หลักของรายงานฉบับนี้คือการทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการประยุกต์ใช้ในฐานะเครื่องมือในการสร้างสมดุลระหว่างนโยบายสาธารณะสองนโยบายดังกล่าว โดยสํารวจพัฒนาการและพลวัตทางความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบสุขภาพและนําเสนอเครื่องมือสร้างสมดุลภายใต้กรอบความคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความสอดคล้องของนโยบายสาธารณะต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง