บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับขยายการเข้าถึงบริการทดแทนไตภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยใช้กรอบแนวความคิดทั้งในด้านประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและแนวคิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมหลักการด้านจริยธรรมและสิทธิมนุษยชนในการพิจารณาทางเลือกด้านนโยบายภายใต้บริบทของประเทศไทย
รูปแบบของการศึกษาประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิของกระทรวงสาธารณสุข การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการขยายบริการทดแทนไตและนักวิชาการด้านชีวจริยศาสตร์ การประชุมระดมคสามคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการขยายบริการทดแทนไต โดยใช้กรอบแนวความคิดด้านจริยศาสตร์ กับการกระจายทรัพยากรสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลกโดยนักวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศร่วมกับนักวิจัยจาก Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา University of Bergen ประเทศนอรเวย์ และองค์การอนามัยโลก ทำการศึกษาในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2548
ผลการศึกษาพบว่าทางเลือกที่ 2 คือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทุกคนได้รับบริการทดแทนไตจนถึงอายุที่กำหนด (เช่น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย) โดยภายหลังจากนั้น ผู้ป่วยต้องช่วยเหลือตนเอง และทางเลือกที่ 4 คือ ผู้ป่วยทุกคนได้รับการบริการฯ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เช่น 1-2 ปี) หลังจากนั้นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยเท่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงและบรรลุเป้าหมายด้านจริยธรรม (เนื่องจากสามารถให้บริการฯกับผู้ป่วยทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยบางคน) รวมทั้งส่งผลกระทบด้านงบประมาณน้อยกว่าทางเลือกอื่นๆ ในขณะที่ทางเลือกที่ 1 คือ ผู้ป่วยทุกคนได้รับบริการฯ ตลอดชีวิต จะก่อให้เกิดภาระทางด้านการคลังสุขภาพกับรัฐบาลเป็นอย่างมากและทางเลือกที่ 3 ผู้ป่วยบางคนได้รับบริการฯตลอดชีวิตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างกว้างๆ ในระดับประเทศและผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการในระดับจังหวัด มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและความแตกต่างระหว่างพื้นที่ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเลือกทางเลือกใด สิ่งที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการขยายบริการทดแทนไตคือ การลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านการป้องกันภาวะไตวานเรื้อรังทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ การแสวงหาแหล่งงบประมาณที่เพียงพอและยั่งยืนสำหรับนโยบายดังกล่าว การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทดแทนไต การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนทดแทนไตในประเทศไทยให้ครอบคลุมและเป็นรายงานภาคบังคับ กรสนับสนุนให้มีการใช้การล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องมากกว่าการฟอกเลือด และการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผ่าตัดเปลี่ยนไตเพ่อรองรับการขยายบริการทดแทนไตในอนาคต เป็นนโยบายด้านอื่นๆที่จำเป็นต้องพัฒนาและดำเนินการควบคู่ไปด้วย