บทคัดย่อ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีภารกิจในการสนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความรู้ สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ การพัฒนานโยบายสุขภาพที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยองค์กรได้รับการออกแบบให้เป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการบริหารงาน ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ในปี พ.ศ. 2555 สวรส. ได้ดำเนินการครบ 20 ปี มีผลการดำเนินงานจำนวนมากที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานเครือสถาบัน จำนวนทั้งสิ้น 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) 2) สำนักพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล (สพตร.) 3) สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.) 4) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) 5) สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) 6) ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (ศรท.) และ 7) ศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) ปัจจุบันสถานการณ์และบริบททั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น สวรส.จึงมีความจำเป็นต้องปรับบทบาทและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พร้อมต่อการปฏิบัติภารกิจในทศวรรษที่สาม สวรส.จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูป สวรส. เพื่อก้าวสู่การวิจัยระบบสุขภาพในทศวรรษที่สาม” ขึ้นในวันที่ 22-23 กันยายน 2555 ณ ห้องประชุมเจด (JADE) โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 64 คน มีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป สวรส. ดังนี้ 1. บทบาท สวรส. ในทศวรรษที่สาม 1.1 การออกแบบและพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ (Design and development of health research system) ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างระบบบริหารการวิจัย (governing structure) โดยกลไกดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญคือ การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นวิจัยบนพื้นฐานความจำเป็นของระบบสุขภาพและจัดสรรงบวิจัยให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญดังกล่าว การพัฒนาระบบประกันคุณภาพงานวิจัย (quality assurance) รวมถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และการเชื่อมโยงระบบวิจัยไปสู่การสร้างเครือข่ายวิจัยระดับภูมิภาคและระดับโลก 1.2 การพัฒนาความเข้มแข็งการบริหารจัดการงานวิจัย (Building research management capacity) มีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย (Research manager: RM) และระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการงานวิจัย รูปแบบการพัฒนา RM อาจศึกษาจากความสำเร็จในการพัฒนานักวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) RM อาจดำเนินงานวิจัยบางส่วนเองได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนเองเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน 1.3 สนับสนุนการวิจัยระบบสุขภาพ (Support research implementation) โดยไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่การสนับสนุนทุนวิจัย แต่ต้องพัฒนาระบบการทำงานในลักษณะที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของนักวิจัย (empowerment) 2. ขอบเขตการวิจัยของ สวรส. 2.1 สมดุลระหว่างการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ที่ผ่านมา สวรส.เน้นการวิจัยประยุกต์เป็นหลัก มีความจำเป็นที่ สวรส.ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยพื้นฐานที่จะสนับสนุนการวิจัยระบบสุขภาพ เช่น การสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ต่อไป การพัฒนาเครื่องมือการวิจัยต่างๆ (Development of research tools) 2.2 สมดุลของการวิจัยเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพที่ผ่านมา สวรส.ให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (health service system) และระบบการเงินการคลังของระบบบริการสุขภาพ (health care financing) แต่ไม่ครอบคลุมองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมดในระบบบริการสุขภาพ (ตามกรอบแนวคิด Six building boxes ขององค์การอนามัยโลก) จึงควรพัฒนาการลงทุนวิจัยให้ครอบคลุมองค์ประกอบ ทั้งหมด 2.3 สมดุลระหว่างการวิจัยระบบบริการสุขภาพและการวิจัยระบบสุขภาพ โดยให้ความสนใจกับการวิจัยในปัจจัยอื่นๆ นอกระบบบริการสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสุขภาพให้มากขึ้น เช่น การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social determinant of health: SDH), ภาวะโรคร้อน (Climate change), การรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster preparedness) การศึกษาวิถีชีวิตประชาชนที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการเคลื่อนย้ายของ ประชากรและเขตเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การวิจัยเพื่อพัฒนาและสนับสนุนกระบวนนโยบายสาธารณะ (Public policy) 2.4 สมดุลระหว่างการวิจัยภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา สวรส. เน้นสนับสนุนการวิจัยในประเทศเป็นหลัก ทำให้นักวิจัยขาดโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในการทำงานร่วมกับนักวิจัยอาวุโสของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามการสนับสนุนการวิจัยร่วมกับนักวิชาการต่างประเทศควรให้ความสำคัญกับประเด็นวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพไทย 2.5 สมดุลระหว่างการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการหน่วยงานและความจำเป็นของระบบสุขภาพในภาพรวม สวรส.ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของระบบสุขภาพในภาพรวมเป็นอันดับแรก ส่วนการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานนั้น ควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่สอดคล้องกับปัญหาของระบบสุขภาพในภาพรวมก่อน คำถามการวิจัยที่เป็นประเด็นย่อยของหน่วยงานควรให้ความสำคัญน้อยที่สุด