บทคัดย่อ
การดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในประเทศไทยซึ่งขยายการดำเนินงานครอบคลุมทั้งประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีการผสมผสานการดำเนินงานเข้าสู่ในระบบการให้บริการการดูแลฝากครรภ์และคลอดบุตรอย่างกลมกลืนทำให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนระบบการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดด้วยความสมัครใจนับเป็นกุญแจสำคัญ (key entry point) ของการดำเนินงานเพราะเป็นจุดคัดกรองและให้ข้อมูลแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเขื้อเพื่อเข้าสู่โครงการ
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจข้อมูลรายละเอียดวิธีการดำเนินงาน ต้นทุนและผลลัพธ์ในกิจกรรมหลักได้แก่ การให้คำปรึกษาและตรวจเลือด การให้ยาต้านไวรัส และการให้นมผงทดแทนนมมารดา ด้วยแบบสำรวจในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ๒๕๔๔ ในพื้นที่ ๑๓ จังหวัดของเขต ๗ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเขต ๑๐ ภาคเหนือตอนบน พบว่า ยังมีข้อพิจารณาสำคัญสำหรับพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิผลดีขึ้นได้แก่ ๑)การทำมาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการคัดกรองและการยืนยันกรณีผลเลือดเป็นบวกเพื่อให้สถานพยาบาลต่างๆปฏิบัติตามอย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยลดปัญหาการตรวจซ้ำซ้อน สิ้นเปลือง และรายงานผลต่ำกว่ามาตรฐาน ๒) การพิจารณาลดจำนวนครั้งของการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดลงให้เหลือเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นฝากครรภ์ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณของการดำเนินงานได้มากและทำให้ภาระงานของผู้ให้คำปรึกษาลดลง จากนั้นให้คำปรึกษาและตรวจครั้งที่สองเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ๓) พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดให้ดีขึ้นโดยเน้นการให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันแก่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และสามีที่มีผลเลือดเป็นลบ โดยเปิดโอกาสให้คู่สมรสมีส่วนร่วม ๔) เพิ่มการป้องกันในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อด้วยยาต้านไวรัสซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๗๔ ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มอัตราการคงอยู่ในโครงการฯสุทธิ (net enrollment rate) จากปัจจุบันเพียงร้อยละ ๕๖ ๕) ขยายการป้องกันในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อที่ไม่มาฝากครรภ์และมีผลเลือดบวกเมื่อมาคลอด หรือกลุ่มที่ปฏิเสธยา AZT โดยการให้ยา Nevirapine