dc.description.abstract | ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยของกิจกรรมบริการทางการแพทย์ เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยของชุดการบริการและข้อมูลต่อหน่วยของรายโรค ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญประกอบการคำนวณอัตราจ่ายของกองทุนประกันสุขภาพทุกกองทุน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีข้อมูลต้นทุนบริการผู้ป่วย รายครั้ง/รายโรค/กลุ่มโรคด้วยวิธีมาตรฐานเพื่อนำมาใช้ประกอบในการคำนวณงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม และมีระบบการวิเคราะห์และคำนวณต้นทุนของโรงพยาบาลให้กองทุนหลักประกันสุขภาพสามารถทราบถึงภาระต้นทุนจริงของโรงพยาบาลในการให้บริการสาธารณสุข โดยการสร้างเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลต้นทุนที่มีมาตรฐาน วิเคราะห์ต้นทุนด้วยวิธีต้นทุนจุลภาคในมุมมองของผู้ให้บริการ เน้นการใช้ข้อมูลที่โรงพยาบาลบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ นำมาจัดระเบียบตามชุดข้อมูลมาตรฐานที่กำหนดและพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้การวิเคราะห์สะดวกรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ซึ่งทำการสำรวจระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลและนำมาสังเคราะห์ในการพัฒนาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลทุกระดับ โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาในระยะที่ 1 ตามแผนดำเนินการ 5 ปี เป้าหมายคือมีข้อมูลต้นทุนบริการของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวม 50 โรงพยาบาล เริ่มศึกษา (ปีงบประมาณ 2561) มีโรงพยาบาลสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6 แห่ง ในปีที่ 2 (ปี 2562) เพิ่มเป็น 13 แห่ง และในปีที่ 3 (ปี 2563) มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม และส่งข้อมูลครบถ้วนสามารถวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค ได้รวม 23 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 3 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ขนาด M1 จำนวน 2 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ขนาด M2 จำนวน 5 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ขนาด F1 จำนวน 2 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ขนาด F2 จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน ขนาด F3 จำนวน 2 แห่ง และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช จำนวน 1 แห่ง ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนครบเวลา 5 ปี (ระยะที่ 1) เพื่อให้ได้ข้อมูลต้นทุนในจำนวนที่มากขึ้น แม่นยำ และถูกต้องมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาลเพื่อบริหารจัดการต้นทุนและประโยชน์ในระดับนโยบายในการพัฒนาเครื่องมือวิธีจ่ายเงินให้มีความเป็นธรรมต่อผู้จ่ายและโรงพยาบาลมากขึ้น ในปีที่สามของการศึกษา ได้พัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานและเครื่องมือในการวิเคราะห์ต้นทุนเพิ่มเติม จากที่ได้ทดลองใช้ในการศึกษามา 2 ปี เพื่อรองรับข้อมูลของโรงพยาบาลทุกระดับตั้งแต่ 10 เตียง ถึงโรงพยาบาลที่มีเตียงมากกว่า 1,000 เตียง ผลการศึกษานี้ เป็นผลของการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 แต่ข้อมูลต้นทุนเป็นข้อมูลปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 ถึง 31 ตุลาคม 2562) โรงพยาบาล 23 แห่ง โรงพยาบาลมีต้นทุนรวม ตั้งแต่ 41.3 - 3,031.8 ล้านบาท มีสัดส่วนต้นทุนค่าแรง ร้อยละ 31.8 - 65.1 จากข้อมูลผู้ป่วยนอก จำนวน 6,271,908 ครั้ง ได้ต้นทุนเฉลี่ยในการรักษาผู้ป่วยนอกต่อครั้ง เท่ากับ 632 - 2,521 บาท ผู้ป่วยในจำนวน 402,144 ราย มีต้นทุนเฉลี่ยผู้ป่วยในต่อ AdjRW เท่ากับ 9,286 - 34,006 บาท ต้นทุนรายกิจกรรม เช่น ต้นทุนค่าห้องและค่าอาหารเตียงสามัญ 177 - 1,219 บาทต่อวันนอน, ค่าห้อง intensive care unit (ICU) มีต้นทุน 383 - 5,334 บาทต่อวัน, ต้นทุนบริการพยาบาลผู้ป่วยนอก 78 - 548 บาทต่อครั้ง, ต้นทุนค่าบริการพยาบาลผู้ป่วยในทั่วไปต่อวัน เท่ากับ 282 - 2,511 บาท, ต้นทุนค่าบริการพยาบาลผู้ป่วยใน ICU เท่ากับ 860 - 7,838 บาทต่อวัน, ต้นทุนยา metformin tab 500 mg เท่ากับ 0.23 - 4.18 บาทต่อเม็ด, ต้นทุนการตรวจเลือด Complete blood count (CBC) เท่ากับ 24 - 128 บาทต่อ test ฯลฯ ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานเฉลี่ย 1,599 บาทต่อครั้ง, โดยโรงพยาบาลศูนย์ มีต้นทุน 2,254 บาท, โรงพยาบาลทั่วไปมีต้นทุน 1,662 บาท, โรงพยาบาลชุมชน ขนาดใหญ่ (M1) มีต้นทุน 1,099 - 1,160 บาท, และโรงพยาบาลชุมชน ขนาดเล็ก (F) มีต้นทุน 934 - 2,883 บาทต่อครั้ง, ต้นทุนผู้ป่วยในเฉลี่ยต่อการนอนโรงพยาบาล กลุ่ม Diagnosis Related Group (DRG) 14010 Cesarean delivery เท่ากับ 19,850 บาท, กลุ่ม DRG 06570 Infectious gastroenteritis age > 9 เท่ากับ 6,402 บาท, DRG 15540 Newborn admission without procedure without CCC เท่ากับ 4,615 บาท และกลุ่ม DRG 04520 Respiratory infection/inflammation without significant CCC มีต้นทุนในการรักษาเท่ากับ 9,949 บาทต่อการนอนโรงพยาบาล 1 ครั้ง โดยโรงพยาบาลศูนย์มีต้นทุนเฉลี่ย 10,425 บาท, โรงพยาบาลทั่วไป มีต้นทุนเฉลี่ย 14,022 บาท, โรงพยาบาลชุมชน ขนาด M1 มีต้นทุนเฉลี่ย 8,634 บาท, โรงพยาบาลชุมชน ขนาด M2 มีต้นทุนเฉลี่ย 8,981 บาท, โรงพยาบาลชุมชน ขนาด F1 ต้นทุนเฉลี่ย 9,710 บาท, โรงพยาบาลชุมชน ขนาด F2 ต้นทุนเฉลี่ย 5,833 บาท และโรงพยาบาลชุมชน ขนาด F3 มีต้นทุนเฉลี่ย 17,729 บาทต่อการนอนโรงพยาบาล 1 ครั้ง ข้อเสนอแนะ: การศึกษานี้ได้ออกแบบวิธีการให้ได้ข้อมูลต้นทุนเปลี่ยนไปจากฐานความคิดแบบเดิมคือการศึกษาเป็นครั้งๆ ที่หน่วยงานเป้าหมายเป็นเพียงผู้เก็บข้อมูล มาเป็นการสร้างระบบมาตรฐานให้นำข้อมูลที่มีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลมาจัดระเบียบและสามารถคำนวณต้นทุนได้และทำต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งวางระบบให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการเองอย่างต่อเนื่องไปได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารด้านต้นทุนให้มีความน่าเชื่อถือและวิธีการวิเคราะห์ต้นทุนมาตรฐานแบบละเอียด ในการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ในการคำนวณต้นทุนรายกิจกรรมและต้นทุนรายบุคคล เป็นประโยชน์ต่อนโยบายการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาล และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนบริการของระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ ของประเทศไทยในอนาคตต่อไป | th_TH |