บทคัดย่อ
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสุขภาพไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด พรบ.กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้ผลักดันให้มีการพัฒนารูปแบบการถ่ายโอนสถานพยาบาลภาครัฐไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบที่เสนอในขณะนั้นคือ การจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการดำเนินการตามรูปแบบดังกล่าวอย่างจริงจัง จนกระทั่งในปี 2550 จึงเริ่มมีการถ่ายโอนสถานีอนามัยจำนวนหนึ่งไป อปท. ในลักษณะนำร่องโดยยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ต่อมาในปี 2544 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดตั้งขึ้น โดยใช้เงินจากภาษีบุหรี่และสุรา ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นปีละกว่า 2 พันล้านบาท บทบาทการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ค่อนข้างเป็นที่ประจักษ์ และทำให้ชุมชนสร้างสุขภาวะขยายไปทุกพื้นที่ อีก 1 ปีต่อมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดตั้งขึ้นและรับโอนงบประมาณการจัดบริการสุขภาพภาครัฐส่วนใหญ่มาบริหาร และในปีเดียวกันนั่นเองก็มีการปฏิรูปโครงสร้างภายในของกระทรวงสาธารณสุข โดยปรับบทบาทของกรมต่างๆ ให้เหลือทำหน้าที่เพียงสนับสนุนทางด้านวิชาการ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติได้ประกาศใช้บังคับในปี 2550 ทำให้เกิดคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายสาธารณะต่างๆ ล่าสุด พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน ได้ประกาศใช้บังคับในปี 2551 ทำให้เกิดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติขึ้น เพื่อบริหารระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมด งานวิจัยระบบสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยการนำเสนอสถานการณ์และทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเน้นที่การวิเคราะห์และการจัดการเชิงระบบ (system approach) และจัดกระบวนการเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำความรู้ดังกล่าวไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสมต่อไป ระบบวิจัยสุขภาพ (health research system) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการวิจัยระบบสุขภาพ ได้เป็นร่มเงาให้สถาบันและเครือข่ายนักวิจัย บ่มเพาะและเติบโตจนเป็นองค์กรวิจัยที่มีความเข้มแข็งจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงบริบททั้งภายนอก (ระบบสุขภาพโดยรวม) และภายใน (ระบบวิจัยสุขภาพ) ทำให้ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานวิจัยระบบสุขภาพในด้านต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบวิจัยสุขภาพสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในระยะต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขจึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ก้าวต่อไปการวิจัยระบบสุขภาพ” ขึ้น ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 โดยระดมผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการวิจัยระบบสุขภาพระยะต่อไป ทั้งนี้ผลสรุปของที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งของนักวิจัยระบบสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญและมีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมประเด็นข้อเสนอต่างๆ ที่จัดเตรียมโดยทีมนักวิชาการเพื่อนำเสนอในที่ประชุม พร้อมกันนี้ยังได้รวบรวมความเห็นข้อเสนอแนะ ที่ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นนั้นๆ ทั้งนี้หวังว่าเอกสารนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพต่อไป