บทคัดย่อ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เจียดเงินเหมาจ่ายรายหัวในหมวดงบลงทุนเพื่อการทดแทนส่วนหนึ่งมาพัฒนาระบบบริการตติยภูมิชั้นสูงด้านโรคมะเร็ง หัวใจ และการบาดเจ็บ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2455 โดยได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวไปกว่า 2,000 ล้านบาทในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา (2545-2549) ขณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหากำลังคนในระบบได้มีการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งของงบดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรและการจ่ายค่าตอบแทนแก่แพทย์บุคลากรที่ให้บริการโดยตรง จากที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งนานพอสมควรแล้วจึงเห็นควรต้องมีการติดตามประเมินการพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบและยุทธศาสตร์ต่อไป การประเมินนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมิน (1) การบริหารนโยบายและพัฒนาระบบที่ระยะเวลาที่ผ่านมา (2) ศักยภาพและผลผลิตการให้บริการของสถานพยาบาลที่เป็นศูนย์ฯแต่ละด้าน (3) ความเป็นธรรมในการได้รับบริการ และ (4) ผลของการจ่ายค่าตอบแทนโดยตรงแก่บุคลากรของโครงการ โดยอาศัยระเบียบวิธีการประเมินหลายอย่างประกอบกัน คือ การทบทวนเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ การสำรวจเชิงปริมาณ และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารในส่วนกลางและสถานพยาบาล และสนทนากลุ่มกับผู้ปฏิบัติในโรงพยาบาลผลการศึกษาพบว่า (1) การบริหารนโยบายและพัฒนาระบบในระยะเวลาที่ผ่านมาขาดเอกภาพและประสิทธิภาพในการบริหาร ขาดงบประมาณด้านการลงทุน ขาดแคลนบุคลากร (2) ศักยภาพและผลผลิตการให้บริการของสถานพยาบาลที่เป็นศูนย์ฯแต่ละด้านพบว่า การดำเนินงานพัฒนาระบบบริการตติยภูมิชั้นสูงด้านโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และการบาดเจ็บ เป็นการพัฒนาศักยภาพของตัวสถานพยาบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์เฉพาะด้านของทั้งสามโรคเป็นหลัก ทั้งในด้านบุคลากรและเทคโนโลยี ในขณะที่การพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น(3) ความเป็นธรรมในการได้รับบริการพบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการในศูนย์ที่ตั้งในเขตเป็นหลัก(4) ผลของการจ่ายค่าตอบแทนโดยตรงแก่บุคลากรของโครงการพบว่าการบริหารงบค่าตอบแทนนั้งยังไม่ชัดเจน