บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนความต้องการกำลังคนผู้ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า(ปี พ.ศ.2551-2560) เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตและการพัฒนากำลังคนผู้ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยในอนาคต จากการศึกษาพบว่ามีผู้ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยอยู่ในสถานบริการของรัฐแล้วจำนวน 3,529 คน โดยเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจำนวน 261 คน เป็นผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาแต่ยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพอีก 227 คน และผู้ที่ผ่านหลักสูตรการอบรมต่างๆ จำนวน 3,041 คน จากการคาดการณ์ความต้องการกำลังคนทั้งตำแหน่งนายแพทย์แผนไทยและผู้ช่วยที่ได้รับมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะ เมื่อพิจารณากรอบอัตรากำลังร่วมกับจำนวนสถานบริการของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีความต้องการนายแพทย์แผนไทยและผู้ช่วยที่ได้รับมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะจำนวนทั้งสิ้น 10,789 คนและ 22,378 คนตามลำดับ การคาดการณ์การเพิ่มอัตรากำลังในสถานบริการระดับต่างๆ ด้วยฉากทรรศน์ที่หลากหลายตั้งแต่การเพิ่มจำนวนด้วยอัตราร้อยละ 3-7 ต่อปี จนถึงการเพิ่มด้วยจำนวนคงที่ พบว่าจะใช้เวลาในการพัฒนากำลังคนให้เต็มกรอบระหว่าง 10-24 ปี และจำนวนกำลังคนที่ต้องการอยู่ระหว่าง 324 - 1,080 คนต่อปี ในขณะที่การคาดการณ์กำลังการผลิตบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ การศึกษานี้ได้กำหนดฉากทรรศน์ของการขยายตัวการผลิตตั้งแต่อัตราคงที่จากปี 2550 จนกระทั่งเพิ่มในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 10 ต่อปี ด้วยข้อจำกัดของจำนวนอาจารย์ผู้สอนและสถานที่ฝึกงานในภาคปฏิบัติ ดังนั้นในฉากทรรศน์ที่มีการเพิ่มจำนวนการรับนักศึกษาด้วยอัตราคงที่และการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปีจึงมีความเป็นไปได้สูงกว่า โดยมีแนวโน้มการผสมผสานของทั้งสองฉากทรรศน์ โดยในช่วงแรกการเพิ่มจำนวนนักศึกษาควรจะเป็นแบบคงที่ ในขณะเดียวกันควรมีการพัฒนาอาจารย์และศักยภาพของสถานที่ฝึกงานอย่างเป็นระบบ และในช่วงหลังจึงจะมีการเพิ่มอัตราการรับนักศึกษาต่อปีได้ เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์จำนวนนักศึกษาจบในอีก 10 ข้างหน้า ดังนั้นคาดว่าจำนวนนักศึกษาที่จะจบควรอยู่ระหว่าง 10,839 – 11,873 คนจากการศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังต่อไปนี้ 1 ข้อเสนอด้านอุปสงค์ (Demand) กระทรวงสาธารณสุขควรเน้นการส่งเสริมการบริการด้านการแพทย์แผนไทยในระดับ District health system (ทั้ง Primary และ secondary care) เนื่องจากสถานบริการระดับนี้มีต้นทุนบุคคลากรทางด้านนี้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อีกทั้งการจัดระบบบริการที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดตำแหน่ง “นายแพทย์แผนไทย” และ “ผู้ช่วยนายแพทย์แผนไทย” ให้เป็นตำแหน่ง “ข้าราชการ” เนื่องจากการกำหนดตำแหน่งลงในสถานบริการของรัฐในระดับต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อนโยบายการเพิ่มจำนวน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่สำคัญในการพัฒนาบุคคลากรผู้ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยลงในระดับพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการตั้งแต่การวางแผนความต้องการและการกำหนดอัตราตลอดจนความก้าวหน้าของบุคคลากรเหล่านี้ ลงในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ตามควรพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่มีความจำเป็น (Core indicators) เพื่อนำมาใช้ประกอบการคาดการณ์ด้วยวิธีอื่นๆ จะทำให้การวางแผนในอนาคตมีความแม่นยำขึ้น 2 ข้อเสนอด้านอุปทาน (Supply)พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ทั้งตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาและการรับรองจากกรรมการวิชาชีพ การดำเนินการควรทำภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการผลิต คณะกรรมการวิชาชีพและกระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนา “ครู” ทั้งในเรื่องจำนวนและคุณภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดความสามารถในการผลิตบุคคลากรในอนาคตพัฒนาบุคคลากรที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม โดยเฉพาะในกลุ่มที่จบจากสถาบันการศึกษาไม่สามารถสอบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะได้ และกลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่หลากหลายและไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรรมการวิชาชีพ ควรได้รับการพัฒนาปรับวุฒิการศึกษา เพื่อให้สามารถสร้างผลิตภาพที่มากขึ้นได้กล่าวโดยสรุป การพัฒนาการแพทย์แผนไทยบนฐานของระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐ เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผสมผสานระบบบริการการแพทย์แผนไทยเข้ากับระบบบริการการแพทย์แผนตะวันตก และการพัฒนากำลังคนผู้ที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน กระบวนการพัฒนากำลังคนดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การกำหนดกรอบอัตรากำลังในสถานบริการต่างๆ ตามความเหมาะสม นำไปสู่การวางแผนการผลิตจะทำให้สถาบันการศึกษาสามารถมีเป้าหมายแนวทางการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพมากขึ้น เมื่อได้ผลผลิตของกำลังคนในแต่ละปีแล้วขั้นตอนการวางแผนบรรจุกำลังคนเหล่านั้นเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ การกำหนดอัตราการบรรจุ การกำหนดความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ การสร้างแรงจูงใจทั้งส่วนที่เป็นตัวเงิน (Financial incentive) และแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน (Non-financial incentive) เพื่อที่จะธำรงบุคลากรเหล่านั้นให้สามารถปฏิบัติงานในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐต่อไป