บทคัดย่อ
ราคากลางค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถการวิจัยราคากลางค่ารักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ ได้นำข้อมูลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่ประสบอุบัติเหตุจากสาเหตุต่าง ๆ จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 33 แห่งทั่วประเทศ ได้กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยใน 10,620 ราย ผู้ป่วยนอก 10,655 ราย นำข้อมูลการวินิจฉัยโรค การผ่าตัดรักษา ภาวะแทรกซ้อน อายุ และสภาพการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล จัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมของอุบัติเหตุ ตามการจัดกลุ่ม Diagnosis related group (DRG) ของสำนักงานการคลังสาธารณสุขของอเมริกา ได้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมประมาณ 70 กลุ่ม ครอบคลุมผู้ป่วยใน ร้อยละ 93 ของผู้ป่วยในทั้งหมด และครอบคลุมผู้ป่วยนอก ร้อยละ 82 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด การคำนวณหาน้ำหนักสัมพัทธ์เพื่อแสดงถึง ความรุนแรงของโรคและ การใช้ทรัพยากรที่ต่างกันระหว่าง 70 กลุ่มนี้ พบว่า ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ของกลุ่มผู้ป่วยมีค่าพิสัยของความแตกต่างกันประมาณ 20 เท่า (จากคะแนน 0.157-5.739) ส่วนน้ำหนัก สัมพัทธ์ของกลุ่มผู้ป่วยนอกมีค่าพิสัยของความแตกต่างเพียง 4 เท่า (จากคะแนน 0.514- 1.803) เมื่อนำคะแนนน้ำหนักสัมพัทธ์ไปคิดเป็นหน่วยราคากลางที่ กองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุ จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่ดูแลรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุ โดยกำหนดให้คะแนน 1 หน่วย มีราคาที่เท่ากับ ทั้งรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ราคาที่กำหนดจะทำให้โรงพยาบาลรัฐได้รับการอุดหนุนมากขึ้น แต่โรงพยาบาลเอกชนจะได้รับการอุดหนุนน้อยลง ดังนั้น อาจกำหนดเป็นนโยบายของกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุ ว่าผู้ที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลเอกชนต่างจังหวัดจะต้องจ่ายเงินสมทบเมื่อเข้ารับการรักษาเป็น จำนวนเงิน ประมาณร้อยละ 20 ของค่ารักษาผู้ป่วยในหรือร้อยละ 40 ของค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนผู้ประสบภัยที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร จะต้องจ่ายเงินสมทบเมื่อเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนเงินประมาณร้อยละ 60 ของค่ารักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เนื่องจากเห็นว่าการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับความสะดวกสบายหรือสิ่งที่นอกเหนือจากการดูแลทางการแพทย์ มากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ นี่เป็นตัวอย่างทางเลือกเชิงนโยบายของกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งอาจระดมความเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อพัฒนานโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด