บทคัดย่อ
การจัดทำสื่อเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ในสมัชชาสุขภาพแห่งขาติครั้งที่ 1 เป็นการจัดทำเครื่องมือสื่อจากสรุปรายงานการวิจัยที่สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมประชุมในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมไบเทค เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2456 โดยยึดหลักการแสดงให้ประชาชนเห็นถึงปัญหา (ทุกข์) ทางสุขภาพ ความตระหนักรู้ถึงเหตุแห่งปัญหา (สมุหทัย) การเห็นทางแห่งการดับทุกข์ (นิโรธ) และแนวทางการ แก้ไขปัญหา (มรรค) โดยการ กลั่นกรองเนื้อหาบางประการจากงานวิจัยต่างๆ มาเป็นเนื้อหาในสื่อ คณะทำงานของสวรส.ได้จัดทำสื่อ 3 ประเภทด้วยกัน คือ สื่อพัด สื่อวีดิทัศน์ “สุขภาวะคนไทยวันนี้” และสื่อบันทึกของเด็กชายก้อนดิน ซึ่งสื่อเหล่านี้ได้ถูกนำเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเวทีเห็นแก่นของการปฏิรูประบบสุขภาพในด้านการตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสุขภาพปัจจุบันว่ามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งทางกายภาพ จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ การนึกถึงสุขภาพต้องคำนึงถึงสุขภาวะในทุกมิติและให้เกิดความเข้าใจหลักในเรื่องของการสร้างสุขภาพว่า มีความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีมากกว่าการดูแลสุขภาพเฉพาะเมื่อมีความเจ็บป่วย มิติใหม่ของการแก้ปัญหานั้นควรจะเป็นการแก้ปัญหาที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันสร้างสุขภาพ ด้วยกลไกใหม่ที่จะเกิดขึ้นควบคู่กับการมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ จากการประเมินพบว่าสื่อดังกล่าว สื่อแต่ละประเภทมีอุปสรรคต่างกัน โดยที่สื่อวีดิทัศน์ มีอุปสรรคค่อนข้างมากในการนำเสนอในเวทีสมัชชาห้องย่อยต่างทั้งในเรื่องของเวลาและเทคนิควิธีการนำเสนอ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีไม่สามารถเข้าใจและเห็นประโยชน์ของสื่อดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์และตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าสื่อวิดีทัศน์มีประโยชน์ในการสื่อสารในเวทีประเภทนี้มากกว่าสื่ออื่น แต่เนื่องจากขาดการบูรณาการการสื่อสารชนิดนี้เข้ากับเรื่องทีกำลังพิจารณาในเวทีและขาดการนำสื่อนั้นไปใช้เพื่อการปูพื้นปรัชญาการปฏิรูปร่วมกัน ก่อนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในขณะที่สื่ออีกสองประเภทถูกนำไปเผยแพร่โดยใส่ไว้ในกระเป๋าผ้าที่แจกในงาน ผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสใช้และอ่านสื่อเหล่านั้น เท่าไร คนที่เห็นและอ่านเพียงผิวเผินประเมินว่า สื่อพัดมีจุดเด่นในเรื่องความสะดุดตา สื่อสารกระชับ สื่อบันทึกเด็กชายก้อนดินได้รับความคิดว่าจะมีข้อคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจโดยเฉพาะเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นสื่อที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ ปัญหาอุปสรรคในการสื่อสารในเวทีสมัชชานั้น ส่วนมากเป็นในเรื่องของกระบวนการในการ สื่อสารที่ยังเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่มีการติดตามพูดคุยในเนื้อหาของสื่อ สื่อบางประเภทมีลักษณะที่เป็นของชนชั้นกลางมากกว่าสื่อที่สามารถใช้ได้กับบุคคลทั่วไป กลุ่มผู้เข้าร่วมสมัชชาที่เป็นนักวิชาการและวิชาชีพ เห็นว่าสื่อพัดและบันทึกเด็กชายก้อนดินยังมีข้ออ่อนที่มีลักษณะไม่ตรงกับเรื่องที่กำลังพิจารณาและให้ความคิดเห็นว่าน่าจะมีการทำสื่อที่เป็นเอกสารทางวิชาการ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเอกสารในรูปของนิทานนั้น น่าสนใจกว่าการทำเอกสารทางวิชาการ ผู้เข้าร่วมเวทีบางกลุ่มเห็นว่าสื่อที่ใช้ในเวทีสมัชชาน่าจะมีความหลากหลายและใช้สื่อที่เป็นพื้นบ้านมากขึ้น ปัจจัยสำคัญในการทำสื่อที่มาจากรายงานการวิจัยนั้น คือ การทำการสังเคราะห์เนื้อหาองค์ความรู้และบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา ก่อนที่จะนำมาสรุปเป็นเนื้อหาที่ปรากฏเป็นสื่อ ผู้จัดทำสื่อ ควรจะได้มีการวิเคราะห์ผู้รับสารที่มาจากหลากหลายพื้นฐานให้ได้ก่อนที่จะผลิตสื่อ เพื่อให้รูปแบบของสื่อมีลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับสารในแต่ละกลุ่ม สื่อที่ผลิตควรจะมีหลายรูปแบบและบูรณาการให้อยู่ในกระบวนการสื่อสารในเวทีสมัชชาให้เป็นระบบมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้สมควรแก่การนำไปพิจารณาเพื่อให้สื่อเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง