บทคัดย่อ
เหตุการณ์ก่อการร้าย 4 มกราคม 2547 โดยเริ่มจากการปล้นปืนค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ความรุนแรงยังคงมีต่อเนื่อง จนเกิดเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 และตากใบ 25 ตุลาคม 2547 ภาวะความรุนแรงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชน ยังส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้สนับสนุนให้ดำเนินการโครงการศึกษาปัญหาดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัญหาการจัดระบบบริการสุขภาพ 2. เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตปัจจุบันและรูปแบบบริการสุขภาพในอนาคต โครงการนำวิธีการศึกษา ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาปรับใช้ และนำกระบวนการพัฒนามาใช้ทดสอบสำหรับประเด็นสำคัญที่ได้จากข้อมูลของการศึกษา และสร้างกลไกที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ผลการศึกษา 1. เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการจัดบริการปฐมภูมิในพื้นที่ชนบท และปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลกรณีผู้ป่วยหนัก 2. บริการผู้ป่วยนอกในระดับสถานีอนามัยลดลง ในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยในมีจำนวนใกล้เคียงเดิมแต่ความรุนแรงของโรคมากขึ้น 3. บุคลากรสุขภาพเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว 4. เกิดการโยกย้ายของบุคลากรจากชนบทเข้าสู่เมือง จากเมืองในพื้นที่เสี่ยงสู่จังหวัดอื่น แนวทางในการแก้ปัญหาระยะสั้น การแก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปรับปรุงระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ สร้างระบบสนับสนุนในภาวะวิกฤต ทั้งด้านการปรึกษา การส่งต่อและจัดบุคลากรเสริม แนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาว การสร้างและดำรงไว้ซึ่งภาวะสันติ การเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะในชนบทได้มีการศึกษาทางด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขมากขึ้น สนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรในปัจจุบัน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดบริการสุขภาพ และระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม การพัฒนา Crisis Forum เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง – เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารข้อมูลการพัฒนาระบบให้คำปรึกษาและการส่งต่อทางการแพทย์ – มีความร่วมมือและความพยายามแต่ยังมีปัญหาโครงสร้างและกรอบการดำเนินงานที่แตกต่างกัน การพัฒนาองค์ความรู้การจัดบริการในภาวะวิกฤต - เกิดคู่มือความปลอดภัยสถานพยาบาลและบทเรียนสำหรับนำไปปรับใช้การพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยยังคงปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งขยายสถาบันสมทบฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านไปสู่โรงพยาบาลชุมชน 3 จังหวัดชายแดน ในการพัฒนาได้พัฒนาเนื้อหาการแพทย์กับวิถีมุสลิม (Muslim & Medicine) เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับบุคลากรสุขภาพ 5. เสนอข้อมูลเพื่อการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตร์ใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และการศึกษาต่อเนื่องของวิชาชีพต่างๆ : คณะแพทย์อยู่ในกระบวนการพัฒนาและจัดการเรียนการสอนใหม่ สำหรับ 3 จังหวัด คณะพยาบาลศาสตร์พัฒนาอาจารย์และเตรียมเปิดหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ