บทคัดย่อ
คู่มือการเรียนรู้วิถีชุมชนนี้เป็นผลลัพธ์จากการถอดประสบการณ์ที่เคยใช้แนวคิดและเครื่องมือทางมานุษยวิทยาไปศึกษาชุมชนในลักษณะของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยในเรื่องต่างๆ ผนวกกับการทดลองใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการทำงานชุมชนให้แก่สถานบริการสาธารณสุขหลายแห่ง เช่น ศูนย์แพทย์ชุมชนและฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลนครราชสีมา โรงพยาบาลห้วยแถลง โรงพยาบาลปากช่องนานา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และโรงพยาบาลระโนด จังหวัดสงขลา รวมทั้งศูนย์แพทย์ชุมชน สถานีอนามัยและโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบการณ์การใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการเรียนรู้วิถีชุมชนเห็นผลดีในระดับที่น่าพึงพอใจ แต่ยังไม่มีการทบทวน สรุป และสร้างเป็นเอกสารวิชาการที่จะใช้เผยแพร่ให้กว้างขวางได้ คณะผู้จัดทำจึงได้นำเสนอเครื่องมือเหล่านี้มาปรับและเรียบเรียงเป็นคู่มือเล่มนี้ขึ้น เพื่อช่วยให้การทำงานชุมชนและการเข้าใจมิติทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่าย และได้ผลและสนุก รวมทั้งยังสามารถใช้ข้อมูลและการเรียนรู้จากชุมชนมาพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีความละเอียดอ่อนต่อมิติทางสังคมและความเป็นมนุษย์มากขึ้น สาระสำคัญของคู่มือนี้ประกอบด้วย แนวคิดในการวางรากฐานความเข้าใจชุมชนและเครื่องมือศึกษาชุมชน 7 ชิ้น คือ 1. แผนที่เดินดิน 2. ผังเครือญาติ 3. โครงสร้างและเครื่องมือศึกษาชุมชน 7 ชิ้น คือ 1. แผนที่เดินดิน 2. ผังเครือญาติ 3. โครงสร้างองค์กรชุมชน 4. ระบบสุขภาพชุมชน 5. ปฏิทินชุมชน 6. ประวัติศาสตร์ชุมชน และ 7. ประวัติชีวิตบุคคล โดยเครื่องมือดังกล่าวมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ 1. ทำให้การลงศึกษาชุมชนมีวิธีการที่ชัดเจน 2. สร้างความเข้าใจในวิถีของชุมชนได้รวดเร็ว 3. ประยุกต์ใช้ความรู้กับงานบริการสุขภาพได้ดี ทำให้งานบริการสุขภาพสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเชื่อมโยงกับชุมชน 4. สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงานชุมชนทำให้ทำงานกับชุมชนได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม เครื่องมือศึกษาชุมชนนี้จะช่วยให้การทำงานชุมชนประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมือจากหลายฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่จะต้องมีใจรักในการทำงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างระบบงานที่เอื้อต่อการทำงานชุมชน และผู้บริหารจะต้องเล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และที่สำคัญการทำงานชุมชนจะเป็นผลสำเร็จไม่ได้ หากผู้ปฏิบัติงานไม่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ขึ้นในองค์กร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การใช้เครื่องมือเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงานชุมชน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงวิถีชุมชนและมีความละเอียดอ่อนต่อมิติทางสังคมจิตวิทยาของความเจ็บป่วย เพราะภารกิจที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพนั้น คือ การสร้างบริการสุขภาพมิติใหม่ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์