บทคัดย่อ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิเคราะห์วัฒนธรรมราชการในระบบบริหารงานสาธารณสุข โดยมุ่งทำความเข้าใจกระบวนการทางวัฒนธรรมที่ทำให้ความรู้ ความคิดอ่านและการใช้เหตุผลในลักษณะต่างๆ มีอิทธิพลต่อการบริหารงานและประสบการณ์การทำงานประจำวันในระบบราชการสาธารณสุข การศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์องค์ประกอบที่สำคัญสุดสองประการในการบริหารงานสาธารณสุข นั่นคือ ความรู้และอำนาจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่กำหนดการตัดสินใจ ความมีประสิทธิภาพ และแบบแผนการปฏิบัติงานของระบบราชการ การศึกษาพบว่าในราชการสาธารณสุขนั้น ความรู้ที่แฝงเร้นอันเป็นความรู้เชิงวัฒนธรรมนั้น มีผลอย่างสำคัญต่อประสบการณ์การทำงานราชการสาธารณสุข ความรู้ที่แฝงเร้นนี้เป็นระบบการให้เหตุผลหรือตรรกะเชิงวัฒนธรรมที่ควบคุมกำกับวิธีคิดและแบบแผนการปฏิบัติของข้าราชการทั่วไป ในการกระทำหรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในงานประจำ ตรรกะเชิงวัฒนธรรมได้กลายเป็นฐานรากของความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของข้าราชการ ซึ่งทำให้สิ่งต่างๆ มีตำแหน่งแห่งที่และมีกาลเทศะเฉพาะที่ถือว่าเป็นปรกติวิสัยในหมู่ข้าราชการ ตรรกะเชิงวัฒนธรรมนี้ดำรงอยู่โดยผู้คนในระบบราชการมักไม่รู้สึกตัวและถือกันว่าเป็นเช่นนั้นโดยไม่ต้องตรวจสอบหรือแก้ไข และแม้ว่าระบบราชการจะสร้างความอึดอัดขัดข้องหรือความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการที่ต้องการทำงานให้ดี แต่ความเป็นจริงของระบบราชการมักทำให้ข้าราชการที่ดีเหล่านี้อยู่ในสภาวะหมดอำนาจที่จะต่อรองหรือหมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ การศึกษาชิ้นนี้ยังได้ศึกษาถึงอำนาจในระบบราชการโดยการวิเคราะห์กรณีทุจริตยาและเวชภัณฑ์ 1,400 ล้านบาท ที่สั่นสะเทือนกระทรวงสาธารณสุขในระหว่างปี พ.ศ. 2541-2542 และพบว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นซึ่งมีนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงหลายคนมีส่วนร่วมนั้น เป็นผลลัพธ์มาจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรในโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุข มีการสร้างพิธีกรรมและความเป็นทางการขึ้นในระบบการปฏิบัติราชการที่ขับเน้นระบบอำนาจและความสัมพันธ์แนวดิ่ง วัฒนธรรมแห่งอำนาจที่ก่อตัวขึ้นทำให้การตัดสินใจและการบริหารเป็นการรวมศูนย์และจำกัดวงอยู่ในแวดวงคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ แต่ระบบแห่งอำนาจนี้มิได้อาศัยการควบคุมกำกับหรือการลงโทษทางวินัยเป็นฐาน แต่เป็นระบอบที่อาศัยความหย่อนยาน การไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะ และการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นฐานสำคัญของการสถานปนาอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งขึ้น จากบริบทที่วัฒนธรรมแห่งอำนาจเฟื่องฟูนี้เองที่ทำให้การคอร์รัปชั่นที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สาธารสุขไทยเป็นไปได้ การศึกษาชิ้นนี้เสนอว่า ความรู้ที่แฝงเร้นหรือความรู้เชิงวัฒนธรรมที่กำกับพฤติกรรมและการปฏิบัติของราชการนั้น จำเป็นต้องถูกเปิดเผยให้ความรู้ที่ถูกตรวจสอบจากสังคม หากระบบราชการจะได้รับการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพและความพร้อมรับผิดชอบมากขึ้น