บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และการปฏิบัติ สำหรับสตรีไทยมุสลิม โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการชนิดความร่วมมือในเชิงวิชาการ ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย 2 ราย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นไทยมุสลิม 16 ราย และ สตรีไทยมุสลิมจำนวน165 ราย
ผลการวิจัยพบว่า โปรแกรมควรประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ 1) ผู้สื่อข่าวด้านสุขภาพ ควรเป็นบุคคลท้องถิ่น 2) ข่าวสารสุขภาพเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ที่ได้ปรับปรุงให้มีความเชื่อมโยงกับการดูแลร่างกายตามหลักศาสนาอิสลาม และ 3) กลวิธีการส่งข่าวสาร ควรมีการผสมผสานการสนทนาจูงใจและการฝึกปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่องสถานที่ เวลา จำนวนผู้เข้าร่วมกลุ่ม และภาษาที่ใช้
ผลการนำโปรแกรมไปทดลองใช้ พบว่า การรับรู้ประโยชน์ของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีไทยมุสลิม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .05, p < .001, และ p < .001 ตามลำดับ การรับรู้อุปสรรคของการตรวจเต้านมด้วยตนเองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001 การปฏิบัติการตรวจเต้านมด้วยตนเองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.4 เป็นร้อยละ 92.0 การวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาโปรแกรมการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการส่งเสริมสุขภาพสตรีไทยมุสลิม และเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติการพยาบาลในกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม