บทคัดย่อ
คู่มือการวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจในการศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลได้มีโอกาสที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่มาวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ระดับหนึ่ง และทราบข้อจำกัดว่าจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้าง เพื่อให้ประหยัดเวลาทั้งผู้เรียนและผู้สอน อีกทั้งมีข้อมูลดิบในการวิเคราะห์ซึ่งเป็นข้อมูลของตนเอง พื้นฐานในการจัดทำคู่มือฉบับนี้ได้จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนของโรงพยาบาลอุดรธานีไว้เมื่อ พ.ศ. 2531 ร่วมกับกองแผนงานสาธารณสุข การศึกษาสมการต้นทุนโรงพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ในช่วงปี พ.ศ. 2531-2533 แบะการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ ในการวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลอุดรธานีเมื่อ พ.ศ. 2531 ผู้เขียนได้เขียนโปรแกรม macro บน Lotus 1-2-3 เพื่อใช้ในการกระจายต้นทุนด้วยวิธี simultaneous equation โปรแกรมนั้นได้ช่วยลดภาระในการคำนวณเป็นอย่างมาก และได้นำมาปรับใช้กับข้อมูลโรงพยาบาลต่างๆ จนทุกวันนี้ การวิเคราะห์ต้นทุนโรงพยาบาลนี้อาจมีรายละเอียดในการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการที่จะได้ข้อมูลมา ผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆ และแนวทางการตัดสินใจว่าควรทำอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้เป้าหมายว่าจะเอาข้อมูลแต่ละส่วนไปทำอะไร จะทำให้สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม คู่มือเล่มนี้เขียนขึ้นด้วยความตระหนักว่าไม่มีสิ่งใดที่เรียกว่าถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด มีแต่ความเป็นไปได้และความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และแน่นอนว่าหากเลือกเอาวิธีการที่ง่าย เราต้องยอมรับว่าความถูกต้องแม่นยำจะลดลง หากเลือกใช้สมมติฐานอย่างหนึ่งแล้ว อาจจำเป็นต้องปฏิเสธสมมติฐานอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาจากหลายหน่วยงานในโรงพยาบาล หากสามารถนำผู้ที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นมาร่วมเป็นกลุ่มศึกษาจะทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญที่สุดเจ้าของข้อมูลจะเริ่มเห็นคุณค่าของข้อมูลที่ตนเองมีอยู่มากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เวชสถิติ การเงิน พัสดุ เภสัชกรรม บุคลากร รวมทั้งฝ่ายการพยาบาลซึ่งดูแลกำลังคนมากที่สุด โอกาสในการใช้ข้อมูลต้นทุนโรงพยาบาลคือการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ประกอบวิชาชีพ ต้นทุนที่ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จึงเป็นต้นทุนทางบัญชีมากกว่าที่จะเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์