บทคัดย่อ
พบว่าในหลากหลายประเทศและในองค์กรระดับนานาชาติที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ได้มีการริเริ่มในการพัฒนากรอบแนวคิดการประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพตลอดจนการพัฒนาตัวชี้วัด/เครื่องมือ/แบบประเมินสมรรถนะที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดดังกล่าว เพื่อนำมาใช้ในการกำกับ ประเมิน และจัดการสมรรถนะระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตามยังไม่พบการศึกษาวิจัยที่ได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อทบทวนสถานะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแบบประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพจากมุมมองผู้รับบริการ โดยการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความเหมือนและความแตกต่างของแบบประเมินที่พบทั้งในและต่างประเทศ วิธีการศึกษา: ใช้วิธีการทบทวนองค์ความรู้ (Literature Review) ที่เกี่ยวข้องกับกรอบแนวคิดตัวชี้วัดและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพจากมุมมองผู้รับบริการ นอกจากนั้นยังทบทวนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด ทฤษฎี และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการประเมินระดับความพึงพอใจและระดับความสุข ซึ่งอาจจะนำมาสู่การพัฒนาเครื่องมือที่สามารถใช้ในการประเมินความเปลี่ยนแปลงของสมรถนะระบบสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการ ผลการศึกษาพบว่านักวิจัยส่วนใหญ่พัฒนาแบบประเมินความพึงพอใจหรือเลือกใช้ข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจมาใช้ในวัตถุประสงค์ของการประเมินสมรรถนะการดูแลด้านสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการ ซึ่งพบว่าการดูแลด้านสุขภาพนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในบรรดาหลายองค์ประกอบของระบบสุขภาพ และพบว่าข้อคำถามต่างๆ เหล่านั้นปรากฏในฐานข้อมูลหรือแบบสอบถามต่างๆ ยังไม่ปรากฏว่ามีการใช้แบบประเมินระดับความสุขในการนำมาใช้ประกอบการประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการ จากการวิเคราะห์ตัวชี้วัดตลอดจนแบบประเมินความพึงพอใจที่ได้จากการทบทวนองค์ความรู้ที่ปรากฏในประเทศไทยและต่างประเทศ และแบบประเมินความสุขที่ใช้ในบริบททั่วไป พบว่าในขณะที่แบบประเมินความพึงพอใจนั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อประเมินความต้องการของผู้รับบริการเพียง 4 มิติ แต่พบว่าแบบประเมินระดับความสุขนั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อประเมินความต้องการของผู้รับบริการอย่างเป็นองค์รวม นอกจากนั้นยังพบว่าตัวชี้วัดตลอดจนแบบประเมินความพึงพอใจดังกล่าวมิได้รับการออกแบบเพื่อประเมินองค์ประกอบต่างๆ ของระบบสุขภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งนอกเหนือจากองค์ประกอบด้านการดูแลสุขภาพ เช่น องค์ประกอบในด้านผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ การนำในพื้นที่การวิจัยและสารสนเทศทางสุขภาพ เป็นต้น พบว่าแบบประเมินสมรรถนะระบบสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการที่พบนั้นมิได้รับการออกแบบเพื่อครอบคลุมการประเมินประเภทของความต้องการของผู้รับบริการอย่างเป็นองค์รวมและไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของสมรรถนะระบบสุขภาพได้อย่างครอบคลุม ดังนั้นจึงควรที่จะพัฒนาแบบประเมินสมรรถนะ ระบบสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการ โดยเฉพาะระดับความสุข โดยที่ควรจะมีการศึกษาวิจัยระยะยาวในการพัฒนาแบบประเมินดังกล่าว เพื่อสามารถมั่นใจได้ว่าองค์ประกอบของสมรรถนะระบบสุขภาพทุกองค์ประกอบ และครอบคลุมมุมมองในเรื่องความต้องการหรือเหตุผลที่มารับบริการ 4 หมวดหมู่ (คงไว้ซึ่งสุขภาพอันหายจากความเจ็บป่วย การอยู่กับโรคหรือความพิการและการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต) ได้รับการนำมาใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการบ่งชี้ระดับสมรรถนะของระบบสุขภาพจากมุมมองของผู้รับบริการ