บทคัดย่อ
การศึกษานี้ต้องการประเมินศักยภาพที่ดำรงอยู่ของอสม.ในประเทศไทยที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้กระบวนการสังเคราะห์ความรู้จากการทบทวนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งจากเอกสารและการประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพ มีการทบทวนสถานการณ์และแนวคิดสำคัญโดยนักวิจัยที่มีศักยภาพในประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับสุขภาพชุมชน วงศาวิทยาและการเมืองวัฒนธรรมของอาสาสมัครในประเทศไทย อาสาสมัครกับโรคอุบัติใหม่ และกลไกสนับสนุนอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งใช้การศึกษาเชิงปริมาณเพื่อประเมินศักยภาพ ระบบสวัสดิการ และปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการทำงานของ อสม. ด้วย นอกจากนี้ ยังจัดทำกรณีศึกษางานอาสาสมัครสาธารณสุขที่น่าสนใจ 15 กรณีศึกษา เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนางานอาสาสมัครสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การสังเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่น่าจะเป็นทิศทางในอนาคตได้ข้อค้นพบจากการศึกษานี้มี 8 ประการ ได้แก่ (1) จากการที่แนวคิดและตัวแบบของปฏิบัติการเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นผลผลิตจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การเมืองและสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและตัวแบบของปฏิบัติการเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (2) อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีอยู่จำนวน 800,000 คน นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง แม้ว่า อสม.บางส่วนอาจมีปัญหาในการเข้ามาเป็นอาสาสมัครเพราะระบบพวกพ้องหรือต้องการสิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ แต่อาสาสมัครส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกมักเป็นผู้ที่ชุมชนเชื่อถือและไว้วางใจว่าจะอุทิศตนให้กับการทำงานเพื่อชุมชน (3) อาสาสมัครสาธารณสุขส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตอยู่ และมีผู้หญิงเข้ามาเป็นอาสาสมัครมากขึ้นถึงร้อยละ 70 ในขณะที่มากกว่าร้อยละ 35 ของอาสาสมัครเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเป็นอาสาสมัครได้ไม่เกิน 5 ปี (4) อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีอยู่มีความสามารถในการทำงานซึ่งเสร็จสิ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น การสำรวจรวบรวมข้อมูล การรณรงค์ป้องกันโรค แต่มีข้อจำกัดในการทำงานที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่น การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง (5) อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีอยู่ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่มีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ซึ่งทำให้มีคำถามว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถระดมกลุ่มบุคคลที่มีคุณภาพและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่านี้เข้าสู่กระบวนการอาสาสมัครสาธารณสุขได้มากขึ้น (6) ระบบการสนับสนุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากนโยบายการกระจายอำนาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้บริหารท้องถิ่น และบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะมีพัฒนาการของกลไกการประสานงานในระดับต่างๆ เกิดขึ้น แต่อาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกการประสานงานในระดับที่สูงกว่าจังหวัดค่อนข้างน้อย (8) กรณีศึกษาต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นนวัตกรรมและรูปแบบของอาสาสมัครในการพัฒนาสุขภาพที่หลากหลาย นับตั้งแต่ การเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลจนถึงการเป็นอาสาสมัครบรรเทาพิบัติภัย รูปธรรมเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับอาสาสมัครในสังคมไทยได้ก้าวหน้าจนเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในอนาคตมีดังนี้ (1) กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องปรับบทบาทจากการเป็นเจ้าของอาสาสมัครสาธารณสุขไปเป็นผู้ส่งเสริมแนวคิดอาสาสมัครเพื่อสุขภาพในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น (2) สนับสนุนให้เกิดอาสาสมัครสาธารณสุขในทุกๆ ด้านของงานสาธารณสุข โดยทุกหน่วยงานของสาธารณสุขควรสร้างเครือข่ายอาสาสมัครของตนเองแทนที่จะหวังพึ่งเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเท่านั้น (3) เปิดพื้นที่ในหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อรองรับงานอาสาสมัครให้กว้างขวางที่สุด (4) ส่งเสริมรูปแบบอาสาสมัครในชุมชนให้มีความหลากหลาย เพื่อเสริมส่วนที่เป็นข้อจำกัดซึ่ง อสม. ไม่สามารถทำได้มากนัก (5) ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขทำตัวเป็นแบบอย่างของการเป็นอาสาสมัครด้วยตนเอง (6) พัฒนากลไกการควบคุมดูแลกันเองเพื่อให้เกิดองค์กรอาสาสมัครสาธารณสุขที่ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง