บทคัดย่อ
จากข้อมูลการศึกษาผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพ และผลกระทบต่อบุคลากร พบว่ามีความพยามยามแก้ปัญหาด้วยวิธีการหลากหลายทั้งการลดบริการเชิงรุกนอกสถานพยาบาลทั้งการเยี่ยมบ้าน การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเวลาของการจัดบริการ ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากความวิตกกังวลต่อภัยของความรุนแรงที่บางครั้งจุดมุ่งหมายของผู้ก่อการเริ่มใกล้ตัวผู้ให้บริการสุขภาพทั้งจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในช่วงต้นของวิกฤต คือ มกราคม – มีนาคม 2547 แนวคิดเรื่องการเพิ่มบุคลากรเข้าไปช่วยทํางานเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนอาจเป็นสิ่งที่พอเป็นไปได้ แต่หลังจากความรุนแรงทวีขึ้นจนเกิดเหตุการณ์กรือเซะ 28 เมษายน 2547 และลุกลามจนเกิดเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 ความรุนแรงดูเหมือนยิ่งใกล้สถานพยาบาลมากขึ้นและเกิดเหตุต่อสถานพยาบาลหลายแห่งแม้ว่าจะไม่รุนแรงเหมือนเกิดกับโรงเรียนหรือสถานีตํารวจ แนวคิดการเพิ่มบุคลากรเริ่มยุ่งยากมากขึ้น แม้จะยังมีเงื่อนไขที่ดีที่ว่าในปัจจุบันบุคลากรทางด้านสุขภาพส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ การโยกย้ายออกจากพื้นที่อาจบั่นทอนขวัญและกําลังใจของผู้ยังคงปฏิบัติงานอยู่ แต่การแก้ปัญหาโดยการเพิ่มค่าตอบแทน เพิ่มความเอาใจใส่ต่อความปลอดภัยของสถานพยาบาล ทั้งการติดกล้องวงจรปิด การทํารั้ว การจัดบ้านพัก ฯลฯ ก็พอจะบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าส่วนหนึ่งไปได้ อย่างไรก็ตามความรุนแรงกลับพัฒนาไปสู่ภาวะใหม่ที่เชื้อของการก่อการร้ายได้เติบโตขึ้น เติบโตจากวิถีของความขัดแย้งเดิมซึ่งคนในพื้นที่ทั้งไทยพุทธ – มุสลิม สามารถรู้และหลีกเลี่ยงได้ไปสู่ภาวะความเสี่ยงของการก่อการร้ายโดยไม่ได้คํานึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบใดๆ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ในภาวะการณ์ที่เชื้อแห่งการก่อการร้ายทั้งหลอกหลอนและพร้อมจะเกิดเหตุทั้งบนท้องถนน ในตลาด สถานที่ราชการและที่อื่นๆ อันยากจะคาดเดา การดํารงอยู่และประกอบวิชาชีพหรือมีวิถีชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย กลายมาเป็นสิ่งสําคัญของผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ สําหรับทหาร ตํารวจและฝ่ายปกครอง มีอาวุธ มีเสื้อเกราะ มีวิชาชีพ ที่จะต้องต่อสู้ระหว่างกันกับผู้ก่อการร้าย แต่บุคลากรทางด้านบริการสุขภาพมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างซ่อมสุขภาพของผู้คน กลับเริ่มตกอยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิตตนและหน่วยงาน แต่การอยู่ในปากงูให้เสมือนลิ้นงูก็ยงคงเป็นภารกิจสําคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทําและขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดต่อหน่วยงาน การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จึงเป็นกลไกสําคัญที่จะทําให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดํารงวิชาชีพอย่างเต็มภาคภูมิบนวิธีการอันพึงนําความปลอดภัยสู้ตนเอง ทีมงานผู้ป่วย และผู้มารับบริการ ในภาวะเสี่ยงภัย การจะเรียกร้องใดๆ ต่อผู้อยู่ไกล เป็นสิ่งที่ห่างตัวและอาจจะดูเลื่อนลอย การพึ่งพาตนเองและพึ่งพาอาศัยกันโดยตระหนักรู้ถึงวิถีแห่งความปลอดภัยในชีวิตจึงเป็นที่มาของการพัฒนา