บทคัดย่อ
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อเป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดระดูวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดต่อการเปลี่ยนแปลงของกระดูก ไขมันในเลือด และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน รวมทั้งความปลอดภัยของยา เปรียบเทียบกับฮอร์โมนทดแทนมาตรฐานวิธีการทำการศึกษาในสตรีวัยหมดระดูที่มีสุขภาพแข็งแรง 80 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยวิธี Randomization กลุ่มแรกจะได้รับยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive, OC) ซึ่งประกอบด้วย Ethinyl estradiol 30 ไมโครกรัม ร่วมกับ Desogestrel 150 ไมโครกรัม กลุ่มที่สองจะได้รับฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy, HRT) ซึ่งประกอบด้วย Conjugated equine estrogen 0.625 มิลลิกรัม รอบละ 21 วัน ร่วมกับ Medrogestone 5 มิลลิกรัม รอบละ 10 วัน อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มรับประทานยา 21 วันและ เว้นยา 7 วัน ตลอดการศึกษา 24 เดือน โดยทำการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก วัดค่าดัชนีการสลายและสร้างกระดูก ไขมันในเลือด การแข็งตัวของเลือด น้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต ทำการวิเคราะห์ชนิด Intention-to-treat analysisผลการศึกษาอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มมีการเพิ่มขึ้นของเนื้อกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกส่วน Trochanteric, intertrochanteric และ Total hip อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะอาสาสมัครในกลุ่ม OC มีการเพิ่มขึ้นของเนื้อกระดูกสะโพกส่วน Femoral neck และ Ward triangle อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาสาสมัครในกลุ่ม OC มีเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นของเนื้อกระดูกมากกว่าอาสาสมัครกลุ่ม HRT ในส่วนของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกส่วน Femoral neck และ Ward triangle อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับดัชนีการสลายและสร้างกระดูก ระดับ Total cholesterol และ LDL cholesterol ในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เฉพาะอาสาสมัครในกลุ่ม OC มีระดับ Triglyceride เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับ Fasting plasma glucose และความดันโลหิตทั้ง Systolic และ Diastolic ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองกลุ่มสรุปยาเม็ดคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทนที่ใช้ในการศึกษานี้ทำให้เนื้อกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพกเพิ่มขึ้นโดยยาเม็ดคุมกำเนิดมีผลมากกว่า ยาทั้งสองชนิดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไขมัน, และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในทางที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว